พระมิ่งขวัญแห่งปวงประชา พระมารดาแห่งแผ่นดิน

13 ส.ค. 2560 | 09:36 น.
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ โทรเลขจากเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเส็ตส์ สหรัฐอเมริกา แจ้งต่อสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ถึงการประสูติของเจ้าชายพระองค์น้อย ดังปรากฏรายละเอียดในโทรเลขว่า
“ลูกชายเกิดเช้าวันนี้ สบายดีทั้งสองขอพระราชทานนามทางโทรเลขด้วย”

MP29-3287-A ในคราวนั้นเอง มิอาจคาดเดาได้ว่ามีสิ่งดลพระราชหฤทัยหรือทรงเล็งเห็นกาลสำคัญในอนาคตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทานนามพระโอรสองค์เล็กในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งที่ดำรงพระองค์เยี่ยงสามัญชนในต่างแดนว่า “ภูมิพลอดุลยเดช” อันมีความหมายว่า “กำลังอันยิ่งใหญ่ของแผ่นดิน” ซึ่งในอีก ๑๙ ปีต่อมา พระองค์คือพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี

ในอีก ๕ ปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามให้กับธิดาคนใหญ่ของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) ราชองครักษ์องค์แรกในรัชกาลที่ ๗ ผู้เป็นราชองครักษ์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกด้วยพระองค์เอง และหม่อมหลวงบัว กิติยากร นางพระกำนัล สนองพระเดชพระคุณในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “สิริกิติ์” อันมีความหมายว่า “ศรี” แห่ง “กิติยากร” ซึ่งในระยะเวลาต่อมา หญิงสาวสวยสง่า เพียบพร้อมด้วยรูปสมบัติและคุณสมบัตินี้คือ “สมเด็จพระบรมราชินีนาถ” ของปวงชนชาวไทย

MP29-3287-B สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงผ่านห้วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์โลกตั้งแต่ทรงอยู่ในครรภ์ของพระมารดา ในคืนวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล คือหนึ่งในคนสำคัญที่คณะราษฎร์เชิญพระองค์ไปควบคุมตัว ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ปล่อยให้หม่อมหลวงบัวซึ่งกำลังตั้งครรภ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ ราว ๗ เดือน มองไปจนสุดสายตาโดยมิอาจคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ และเมื่อถึงเวลาพระราชสมภพในวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๗๕ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ซึ่งทรงลาออกจากราชการทหารหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และทรงย้ายไปรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศก็มิได้อยู่รับขวัญในช่วงเวลาอันสำคัญยิ่งนี้ เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งเลขานุการเอก ประจำสถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

ไม่เพียงเท่านั้นในคราวสงครามมหาเอเชียบูรพา (๒๔๘๕-๒๔๘๘) สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงประสบกับภัยสงครามไม่ต่างกับประชาชนชาวไทยทั่วไป บ้านของนายแพทย์ หม่อมหลวงจินดา สนิทวงศ์ น้องชายของหม่อมหลวงบัว ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ย้ายมาพักอาศัยเพื่อผ่อนคลายความกังวลของหม่อมหลวงบัวที่ต้องหนีระเบิดติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็ต้องระเบิดถูกไฟใหม้หมดทั้งหลัง

MP29-3287-C วันหนึ่ง...เหตุการณ์ในชีวิตของธิดาองค์ใหญ่ในหม่อมเจ้านักขัตรมงคลที่ต้องย้ายติดตามพระบิดาไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี ระเบียบชีวิตที่ต้องคร่ำเคร่งในการเรียนหนังสือและซ้อมเปียโนไม่ต่ำกว่าวันละ ๗-๘ ชั่วโมง เพื่อเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดของกรุงปารีส ได้เปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระราชประสงค์เสด็จฯ เยี่ยมโรงงานต่อรถยนต์ในประเทศฝรั่งเศส และการรับเสด็จครั้งแรกที่เมืองฟงแตนโบล (Fontainebleau) ชานกรุงปารีส คือจุดเริ่มต้นของความรักที่ทำให้หัวใจของคนไทยทั้งประเทศชุ่มชื่นและเบ่งบานอีกครั้ง

“Each day, I dream of love, I dream of you.
You’re like an angel dear, For heaven sends you here.
With joy, I feel your kiss, Your lovelight gleams.
But then, I find each bliss, Only in dreams.”

เนื้อร้องตอนหนึ่งของเพลง “Dream of Love Dream of You” เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๙ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อวันจันทร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ (ก่อนทรงขอหมั้นราว ๕ เดือนเศษ) ขณะประทับ ณ เมืองดาโวส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์งค์ได้หลอมรวมเป็นหนึ่งกับความรักที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย ภายหลังพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในปี ๒๔๙๓ และการประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ นับแต่นั้นเป็นต้นมา แผ่นดินไทยทั้ง ๕๑๓,๑๒๐ ตารางกิโลเมตร ไม่ว่าหนทางจะยาวไกลเท่าใด ไม่ว่าภูเขาจะสูงชันแค่ไหน ไม่ว่าหนทางจะทุรกันดารเพียงใด ไม่ว่าสถานที่เหล่านั้นจะยากแค้นมากแค่ไหน ขอเพียงมีประชาชนบนผืนแผ่นดิน ที่นั่นมีทั้งสองพระองค์เสมอมา

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๕ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ “สุขสัปดาห์ วีคเอนเดอร์” ขอนำพระฉายาลักษณ์ระหว่างประกอบพระราชกรณียกิจเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มาให้ท่านผู้อ่านได้ซึมซับห้วงเวลาอันปิติยิ่งของประชาชนชาวไทยอีกครั้ง พร้อมคัดสรรพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระราชทานในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งแม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานหลายสิบปี แต่เรื่องราวที่พระองค์ได้ตรัสไว้คือสิ่งที่สอนคนไทยทั้งประเทศได้ในทุกครา

*หมายเหตุใต้ภาพ: ภาพจากหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,287 วันที่ 13 -16 สิงหาคม พ.ศ. 2560