พรบ.รัฐวิสาหกิจ รัฐหวังอะไร? 'ประสิทธิภาพ-ปลอดการเมือง'

14 ส.ค. 2560 | 04:07 น.
ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ถึงแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2560-2564) ความคาดหวัง หลังกฎหมายรัฐวิสาหกิจประกาศใช้ และความคืบหน้าแผนฟื้นฟู 7 รัฐวิสาหกิจ...

**คาดหวังอะไรก.ม.ฉบับนี้
ในอดีตรัฐวิสาหกิจต่างคนต่างดูแล ยิ่งเป็นพรรคการเมืองผสม นโยบายก็จะต่างฝ่ายต่างทำ ไม่ได้ขึ้นกับยุทธศาสตร์ แต่กฎหมายฉบับนี้จะให้อำนาจคนร. (คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ)สามารถที่จะบูรณาการรัฐวิสาหกิจที่อยู่ต่างกระทรวง ต้องมากำหนดร่วมกันเพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกัน การตั้งบอร์ดต้องผ่านกรรมการกลั่นกรอง กำหนดตาม skill matrix และการประเมินเคพีไอต้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ คนร.

เป้าหมายสุดท้าย กลไกปฏิรูปจะทำให้รัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่ดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศ เพราะทุกวันนี้ 50% ของงบลงทุนภาครัฐมาจากรัฐวิสาหกิจ และท้ายสุดคือมีระบบธรรมาภิบาลที่ดี (อ่านเปิดสาระ 6 หลักการ)

[caption id="attachment_193433" align="aligncenter" width="503"] เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ[/caption]

**สกัดการเมือง
โครงสร้างคนร. มาจากฝ่ายการเมือง 5 คน ก็จริง (นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคนร.) แต่ฝ่ายการเมืองในที่นี้จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายวางนโยบาย กำหนดนโยบายที่เดินไปกับยุทธศาสตร์ของชาติผ่านกลไกของคณะกรรมการกลั่นกรอง โอกาสที่ฝ่ายการเมืองจะแทรกแซง จะไม่เกิดขึ้นเหมือนในอดีต

**แผนฟื้นฟู 7 รัฐวิสาหกิจ
รัฐวิสาหกิจ ตัวที่ค่อนข้างดีสุดคือ เอสเอ็มอีแบงก์ (ธพว. : ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) ธพว.บรรลุเป้ามาแล้วจากที่ขาดทุนมามีกำไร คนร.เคยจะให้ออกจากแผนฟื้นฟู แต่ตอนนี้ให้รอไปก่อน อยากให้เกิดความชัดเจน ให้มั่นใจว่าหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ลดลง เมื่อออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว จะได้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคนร. ตั้งเป้าหนี้เสียธพว.สิ้นปีนี้ ต้องลดให้เหลือ 1.66 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปี 2559 ที่ 1.8-1.9 หมื่นล้านบาท เทียบจากที่ลดมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว

ส่วน “การบินไทย” เริ่มดีขึ้น จากตัวเลขที่ขาดทุนกลับมามีกำไร ตอนนี้บริษัทพยายามเอาระบบมาใช้ เช่น ระบบบริหารเน็ตเวิร์ก ในเรื่องราคาที่สามารถแข่งขันกับอุตสาหกรรมก็ทำได้ดีขึ้น เห็นชัดว่าปริมาณผู้ใช้บริการเครื่องของการบินไทยเพิ่มขึ้นมาก (Cabin Factor) กว่า 80% สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 10 ปี ตอนนี้ก็เหลือเรื่อง Price ระบบราคาต้องแข่งขันได้ อันนี้ก็เป็นตัวที่เราจับตาดูอยู่ เพราะอยากให้โตอย่างยั่งยืนเช่นกัน

ขณะที่ไอแบงก์ (ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ) ตอนนี้เราสามารถทำสำเร็จแล้วหลายอย่าง โดยเฉพาะฝั่งกระทรวงการคลัง เราสามารถตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IAM) แยกหนี้เสีย-หนี้ดี ออกมาได้แล้ว ทำให้ไอแบงก์กลายเป็นกู๊ดแบงก์ ที่สคร.จะไปเร่งคือเร่งในเรื่องการบริหารจัดการ บวกกับเรื่องการหาผู้ร่วมทุน เราอยากได้พันธมิตรที่รู้เรื่องและเชี่ยวชาญ อิสลามิกไฟแนนซ์ เข้ามาทำ ขณะนี้มีผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศ 3 ราย นายกรัฐมนตรี ต้องการให้แผนหาผู้ร่วมทุนจบภายในสิ้นปีนี้

ส่วนบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่ผ่านมาทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจนี้มีปัญหาคือ ลงทุนซํ้าซ้อน ตอนนี้ก็เลยให้ทางกระทรวงดีอีเสนอให้แยกตั้งบริษัทลูกออกมาคือ บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ต จำกัด (NGDC) โดย NBN จะดำเนินธุรกิจเคเบิลใยแก้วใต้นํ้าและอินเตอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์ ส่วน NGDC ดำเนินธุรกิจอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ ตรงนี้เป็นการแก้ปัญหาการลงทุนที่มีความซํ้าซ้อน ขณะนี้แผนมีความชัดเจน ครม.เห็นชอบในหลักการ

**ร.ฟ.ท.-ขสมก. ยังช้า
ทั้ง 5 รายดังกล่าวถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างดี ที่ช้าหน่อยก็คือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยขสมก.ที่ช้าก็คือเรื่องการจัดซื้อรถ NGV 489 คัน เพราะรถ ขสมก เก่ามาก ค่าซ่อมแพงมาก การซื้อเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนร.ฟ.ท. หัวใจสำคัญของการปฏิรูปคือการบริหารจัดการที่ดิน แผนการบริหารของร.ฟ.ท. ที่เสนอมาคือเขาจะตั้งบริษัทลูก มาบริหาร ซึ่งทางครม.ได้มอบหมายให้ “พิชิต อัคราทิตย์” รัฐมนตรีช่วยคมนาคมไปดูแล

“คือตอนแรก ถ้าจำได้ คลังเสนอให้เอาที่ดินตรงมักกะสัน โอนมาจ่ายและคลังก็จะได้ลดหนี้เลย แต่ฝั่งนั้นเขาไม่เอา เขาจะจัดการเองทั้งหมด และจะให้ลดหนี้ลงได้อย่างไร ฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับการบริหารที่ดินว่า ร.ฟ.ท.จะทำอย่างไร”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,287 วันที่ 13 -16 สิงหาคม พ.ศ. 2560