ลงเข็มรถไฟฟ้าขอนแก่น ธ.ค.60 สนข.สรุปผลกันยายนนี้-ใช้ที่ศูนย์วิจัยข้าวเป็นTOD

13 ส.ค. 2560 | 05:18 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ขอนแก่นพัฒนาเมือง คาดสรุปผลรถไฟฟ้ารางเบา ก.ย.นี้ ตอกเสาเข็ม ธ.ค. 60 พร้อมใช้ที่ศูนย์วิจัยข้าว เป็น TOD เปิดกว้างยักษ์ใหญ่ร่วมพัฒนาที่ดิน

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด เปิดเผยว่า ภาคเอกชนในจังหวัดได้รวมตัวก่อตั้งเป็นบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด หรือเคเคทีที ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาทเพื่อพัฒนาจังหวัดขอนแก่นให้มีระบบขนส่งสาธารณะด้วยรถไฟฟ้ารางเบา และซิตีบัส รวมทั้งพัฒนาเมืองให้เป็นสมาร์ทซิตีเต็มรูปแบบ โดยประสานความร่วมมือกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยขณะนี้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่งสนข.จะนำข้อมูลกลับไปออกแบบในขั้นตอนสุดท้าย และสรุปผลภายในเดือนกันยายนนี้ โดยคาดว่า จะสามารถเชิญพลอ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาตอกเสาเข็มแรกของโครงการรถไฟฟ้ารางเบาในเดือนธันวาคม 2560 ใช้เวลาก่อสร้าง 1-2 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2562 หรือต้นปี 2563

“จังหวัดขอนแก่นกำลังสร้างพื้นฐานการพัฒนาจังหวัดในทุกๆด้าน ด้วยระบบการคมนาคมขนส่ง และการสร้างเมืองเป็น ไมซ์ ซิตี หรือเป็นศูนย์กลางการประชุมแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขง ด้วยศักยภาพจากทำเลที่ตั้ง เป็นทางเชื่อมของโครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ตั้งเป้าให้เป็นเมืองศูนย์กลางของบริการทางการแพทย์ รักษาพยาบาล โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ขยายศูนย์การแพทย์หลายอาคาร ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะให้เหมาะสม โดยเริ่มต้นที่รถบัสโดยสารปรับอากาศ ขอนแก่นซิตีบัส ที่เชื่อมท่าอากาศยานขอนแก่นกับสถานีขนส่งผู้โดยสาร 3 ผ่านย่านการค้า ย่านธุรกิจในตัวเมือง มีบริการไว-ไฟฟรีในรถบัส ติดตั้งจีพีเอส สามารถติดตามรถได้ว่า มาถึงจุดไหน และชำระค่าโดยสารด้วยสมาร์ทการ์ด”

[caption id="attachment_193472" align="aligncenter" width="340"] สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย[/caption]

นายสุรเดช กล่าวต่อไปว่า ขอนแก่น ซิตีบัส เป็นระบบขนส่งสาธารณะแนวตะวันออก-ตะวันตก ส่วนรถไฟฟ้ารางเบาหรือ แอลอาร์ที เป็นระบบขนส่งมวลชนแนวเหนือ-ใต้ สำราญ-ท่าพระ มีระยะทางรวม 26 กิโลเมตร จำนวน 21 สถานี และเพิ่มอีก 2 สถานี เงินลงทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ใช้ขบวนรถไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ 15 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ สามารถจุผู้โดยสารได้ 180 คน ล่าสุด 5 เทศบาลในจังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วยเทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลสำราญ และเทศบาลตำบลท่าพระ ซึ่งเป็นเส้นทางที่รถไฟฟ้ารางเบาวิ่งผ่าน ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเท็มส์ฯ หรือ เคเคทีเอส (KKTS) ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เพื่อเป็นหน่วยงานที่บริหารจัดการเดินรถ จัดทำ TOR เพื่อจัดหาผู้ดำเนินการก่อสร้าง และจัดเก็บรายได้ของระบบขนส่งสาธารณะ บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเท็มส์ จำกัด ยังทำหน้าที่ประสานกับกรมทางหลวง และกรมธนารักษ์ เพื่อขอใช้พื้นที่เกาะกลางถนนสร้างรางและสถานี

“การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด เป็นการร่วมลงทุนของภาคเอกชน รายได้จากการเดินรถไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงต้องมีแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development-TOD) ตามมาด้วย โดยบริษัทได้ขอใช้พื้นที่ของศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่นที่มีอยู่ 200 ไร่ นำมาใช้จริง 80 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ พัฒนาอสังหริมทรัพย์ อาคารสำนักงานและที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้สูงและปานกลางและยังเป็นพื้นที่แก้มลิงไปในตัวด้วย ซึ่งบริษัทพร้อมให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เสนอตัวเข้ามาลงทุน นอกจากนี้ มีแผนทำ TOD อีก 2 จุด”

นายสุรเดช กล่าวว่า การดำเนินงานของขอนแก่นพัฒนาเมือง จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองใหญ่ในภูมิภาค ที่มีการร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาเมืองอย่างมีแบบแผนชัดเจน มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขอนแก่นจะเป็นจังหวัดแรกที่จะเกิดรถไฟฟ้ารางเบา เนื่องจากมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการล่วงหน้า ขณะนี้ บริษัทได้ประสานความร่วมมือกับเมืองใหญ่ในการพัฒนาเมืองโดยก่อตั้งบริษัทพัฒนาเมืองขึ้นมาแบบจังหวัดขอนแก่น ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง สระบุรี สมุทรสาคร พิษณุโลก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,287 วันที่ 13 -16 สิงหาคม พ.ศ. 2560