ข้อพิพาทดาวเทียม สะเทือน! ธุรกิจ‘ไทยคม’

13 ส.ค. 2560 | 02:34 น.
ยังคงเป็นประเด็นร้อนแรง สำหรับข้อพิพาทระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม หรือ ดศ. กับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ต่อกรณีการยิงดาวเทียมไทยคม 9

**ย้อนรอย
เป็นเพราะปมปัญหาดาว เทียมไทยคม 7 ได้ยิงขึ้นไปเมื่อปี 2555 ในตำแหน่งวงโคจร 120 องศาตะวันออก และ ไทยคม 8 ตำแหน่งวงโคจรที่ 78.5 องศาตะวันออก ซึ่งยิงไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559

แต่ทว่าดาวเทียมทั้ง 2 ดวงนั้นอยู่ภายใต้ระบบใบอนุญาต ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เป็นไปตามกลไก พ.ร.บ. กสทช. 2558 ออกมาบังคับใช้ ได้กำหนดให้ผู้ประ- กอบการดาวเทียมจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแทนในอัตรา 2% ต่อปี และจ่ายเข้า USO อัตรา 3.75% ต่อปี

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ไทยคมอยู่ภายใต้สัมปทาน ดศ. สัญญาสิ้นสุดในปี 2564 และ ต้องจ่ายค่าสัมปทาน 20.5% จน กว่าจะสิ้นสุดสัมปทาน

ปมประเด็นช่องว่างทางกฎหมายและเกิดความทับซ้อนส่งผลให้ ดศ.สูญเสียรายได้ นั้นจึงเป็นที่มาของมติ ครม.เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 โดยให้ ไทยคม กลับไปอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน และให้เจรจาผลประโยชน์ตอบแทนที่ไม่ให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์

**ช่วงชิงวงโคจร
นอกจากเรื่องค่าสัมปทานแล้ว เรื่องตำแหน่งวงโคจรก็ยังมีปัญหาเช่นเดียวกันเพราะในช่วงรอยต่อดังกล่าวสำนักงาน กสทช.ต้องการให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ออกมาตรา 44 ดำเนินการดาวเทียมเพียงรายเดียว โดยเริ่มตั้งแต่ดาวเทียมไทยคม 9 เป็นต้นไป

MP22-3287-A **แคทร่วมไทยคม
เพื่อให้ข้อพิพาทได้ยุติลง ไทยคม ได้ยื่นขอทำดาวเทียมร่วมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท โดยให้ถือหุ้น 30% เป็นดาวเทียมประชารัฐ เพื่อให้บริการกับกระทรวงมหาดไทยหน่วยงานความมั่นคง เพื่อใช้ในทางด้านความมั่นคงของประเทศ ส่วนแคทต้องไปขอใบอนุญาตการเป็นผู้ให้บริการกิจการอวกาศ จาก กสทช. และจ่ายค่าใบอนุญาต 5.25% ให้กับ กสทช. แต่ก็ยังไม่มีข้อยุติ

จนในที่สุดเมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยว่า ไทยยังไม่สูญเสียตำแหน่งวงโคจรที่ 119.5 องศาตะวันออก แต่อย่างใด และตำแหน่งวงโคจรดังกล่าวเพื่อยิงดาวเทียมไทยคม 9 และให้แคทเป็นผู้ดำเนินการดาวเทียมร่วมกับไทยคม

**ยกเลิกการจอง
ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องของ ไทยคม 7-8 ส่งผลกระทบต่อ ไทยคม 9 ทั้งนี้ นายไพบูลย์ภานุวัฒน์วงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ออกมาเปิดเผยว่า ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นทำให้ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป ซึ่งเช่าใช้ดาวเทียมดวงที่ 4 (ไอพีสตาร์) ยกเลิกการจองดาว เทียมดวงที่ 9 ในสัดส่วน 30% ของบริการคือ 1.5 กิกะไบต์ ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากความไม่ชัดเจนของภาครัฐ

MP22-3287-B **Q2 กำไรลด
ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นส่งผล กระทบโดยตรงกับ ไทยคม เพราะผลประกอบการไตรมาส 2/2560 ซึ่งได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วนั้น ปรากฏว่า ไทยคม มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวมทั้งสิ้น 2,286 ล้านบาท ลดลง 616 ล้านบาท หรือ 21.2% จาก 2,902 ล้านบาทในไตรมาส 2/2559

โดยมีสาเหตุหลักจาก การลดลงของรายได้จากการให้บริการดาวเทียมและบริการที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะจากการลดลงของรายได้ จากการให้ บริการดาวเทียมบรอดแบนด์ไทยคม 4 ในประเทศออสเตรเลีย และประเทศไทย บริษัทมีต้นทุนขายและการให้บริการเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2559 จากต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมไทยคม 8 เช่น ค่าเสื่อมราคา และค่าประกันภัยดาวเทียม ส่งผลให้บริษัทมีผลกำไรจากการดำเนินงาน(EBIT) จำนวน 101 ล้านบาท ลดลง 609 ล้านบาท หรือ 85.8% จาก 710 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2559 และมีกำไรสุทธิจำนวน 216 ล้านบาท ลดลง 375 ล้านบาท หรือ 63.5% จาก 591 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการรวม ลดลง 445 ล้านบาท หรือ 16.3% จาก 2,731 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของรายได้จากการให้บริการดาวเทียมบรอดแบนด์ไทยคม 4 เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม รายได้ที่ลดลงดังกล่าวถูกชดเชยด้วยรายได้อื่นจากประเทศออสเตรเลีย และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน ในการร่วมค้าจากธุรกจิการให้บริการโทรศัพท์ในต่างประเทศ ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิลดลง จำนวน 43 ล้านบาท หรือ 16.6% จาก 259 ล้านบาท

ข้อพิพาทของ ไทยคม ที่เกิดขึ้นนั้นก็มิอาจปฏิเสธได้ว่าภาพ ของอดีตนายกฯ ทักษิณชินวัตร ผู้ก่อตั้งกลุ่มชินคอร์ปอ-เรชั่น ยังหลอกหลอนอยู่ แม้จะขายหุ้นในชินคอร์ป ไปทั้งหมดแล้วก็ตาม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,287 วันที่ 13 -16 สิงหาคม พ.ศ. 2560