‘ลิเทียม’ขุมพลังเศรษฐกิจอาร์เจนตินา สู่พลังงานทดแทนและยานยนต์โลก

13 ส.ค. 2560 | 05:04 น.
MP20-3287-1b โลกรู้จัก “ลิเทียม” (Lithium) ในฐานะวัตถุดิบสำคัญในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการใช้ผลิตอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเรามักคุ้นเคยกันดีในรูปแบบแบตเตอรี่สำหรับโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ลิเทียมยังใช้ผลิตท่อนาโนคาร์บอนและเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ อีกมากมาย

แนวคิดพลังงานสะอาดและการประหยัดพลังงาน ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน ต่างตื่นตัวและมองหาพลังงานทดแทนที่มีคุณภาพและราคาที่ย่อมเยา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งบริษัทด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ขนาดใหญ่ต่างประกาศเดินหน้าผลิตรถยนต์พลังงานผสมชนิดพลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า (Hybrid Vehicle) ออกสู่ตลาด พร้อมเปิดรับการใช้พลังงานทดแทนอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการใช้พลังงานจาก นํ้ามันอันเป็นเชื้อเพลิงต้นทุนสูงและไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้นับวันความต้องการแร่ลิเทียมทั่วโลกยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากการร่วมทุนระหว่างประเทศขนาดใหญ่ เพื่อนำแร่ลิเธียมจากประเทศผู้ผลิตกระจายสู่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และปริมาณการนำเข้า-ส่งออกแร่ลิเธียมระหว่างประเทศแหล่งทรัพยากรไปยังประเทศต่างๆ ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการ “ลิเทียมคลอไรด์ (LiCl)” มาแปรรูปสู่การใช้งาน ซึ่งลิเทียมคลอไรด์พบได้มากตามแหล่งธรรมชาติประเภท “ทะเลทรายเกลือ” (Salar) ที่เกิดขึ้นจากการระเหยและการเผาของแสงแดดของทะเลสาบนํ้าเค็ม จนเกิดทะเลทรายเกลือ โดยนํ้าใต้ดินที่อยู่ด้านล่างทะเลทรายเกลือจะเป็นนํ้าเค็มที่มีส่วนผสมของลิเทียมคลอไรด์จำนวนมาก ซึ่งนํ้าเค็มใต้ดินนี้จะถูกนำมาใช้ผลิตลิเทียมคลอไรด์ และถูกนำมาทำปฏิกิริยากับโซดาแอช (Na2CO3) เพื่อให้ได้ลิเทียมคาร์บอเนต (Li2CO3) ก่อนจะแปรรูปเป็นโลหะลิเทียม เพื่อนำมาทำเป็นขั้วแคโทดของแบตเตอรี่ต่อไป

MP20-3287-3 ประเทศอาร์เจนตินา เป็นประเทศแหล่งแร่ลิเทียมและมีปริมาณการสำรองแร่ลิเทียมติดอันดับต้นๆ ของโลก เช่นเดียวกับ ประเทศโบลิเวีย และ ประเทศชิลี ซึ่งปริมาณการผลิตแร่ลิเทียมของทั้ง 3 ประเทศถือเป็นสัดส่วนการผลิตเกือบครึ่งของการผลิตทั้งโลก อย่างไรก็ดี แม้ประเทศโบลิเวียจะมีปริมาณแร่ลิเทียมมากที่สุดในโลก (พบบนพื้นที่กว่า 10,582 ตารางกิโลเมตรของที่ราบ Salar de Uyuni) แต่ด้วยความไม่สมบูรณ์ของโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งแร่ ส่งผลให้การผลิตแร่ในเชิงพาณิชย์ประสบปัญหา ในขณะที่ประเทศชิลียังคงมีข้อจำกัดและมาตรการยุติการให้สัมปทานเพิ่มเติมแก่เอกชนบางราย ทำให้ประเทศอาร์เจนตินาเข้ามามีบทบาทและครองตลาดการส่งออกลิเทียมอย่างน่าจับตามอง

นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา รัฐบาลอาร์เจนตินาได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน โดยประกาศยกเลิกการจัดเก็บภาษีส่งออกแร่ธาตุทั้งประเภทโลหะและอโลหะของประเทศอาร์เจนตินา รวมถึงยกเลิกข้อจำกัดอื่นๆ เกี่ยวกับการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ อาทิ ยกเลิกการจำกัดการส่งเงินกำไรจากการลงทุนโดยต่างประเทศกลับประเทศต้นทาง รวมถึงการยกเลิกการควบคุมเงินตราต่างประเทศ และมาตรการอื่นๆ ที่เอื้อต่อนักลงทุน ส่งผลให้โครงการเหมืองแร่ต่างสามารถเดินหน้าได้จริงจังและขยายตัวจนถึงปัจจุบัน และด้วยบทบาทของอาร์เจนตินาที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม G20 และเขตการค้าเสรี Mercosur ยิ่งทำให้เมืองที่เต็มไปด้วยทรัพยากรแห่งนี้กลายเป็นประตูการค้าแห่งลาตินอเมริกาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการด้านพลังงานของไทยอย่าง “บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น” ได้มองเห็นศักยภาพดังกล่าวและเข้ามาลงทุนเหมืองแร่ลิเทียม ท่ามกลางการยอมรับและยินดีจากรัฐบาลอาร์เจนตินาเป็นอย่างมาก

ข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า รัฐบาลอาร์เจนตินาได้ให้ความสำคัญต่อการนำแร่ลิเทียมมาเป็นพระเอกในการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ตอบโจทย์โลกในยุคปัจจุบันที่มุ่งสู่อุตสาหกรรม ซึ่งต้องการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความต้องการแหล่งกักเก็บพลังงานไฟฟ้าคุณภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภาคธุรกิจไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของประเทศผู้ผลิตแร่ที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยและโลกซึ่งกำลังมุ่งหน้าไปยังอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อที่จะได้รับโอกาสจากนโยบายเหล่านั้นต่อไป
พบกับอัพเด9ความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,287 วันที่ 13 -16 สิงหาคม พ.ศ. 2560