ไทยเบฟปลุกสมรภูมิไก่ แบรนด์ดังโหมการตลาดแข่ง KFC

13 ส.ค. 2560 | 10:32 น.
สมรภูมิไก่ 1.74 หมื่นล้านบาทเดือด หลังไทยเบฟฯ ทุ่มกว่าหมื่นล้านบาทซื้อร้าน KFC ปลุกตลาดคึกคัก “บอนชอน-เท็กซัส ชิคเก้น-ฮ็อท สตาร์” เปิดแผนตั้งรับโหมขยายสาขาอัดกิจกรรมใหม่ดูดลูกค้า

กระหึ่มวงการร้านอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurants : QSR) โดยเฉพาะในตลาดไก่ ให้กลับมาระอุอีกระลอก หลังไทยเบฟเวอเรจ โดยนายเจริญ สิริวัฒนภักดี บรรลุข้อ ตกลงในการซื้อร้านสาขาของ KFC จาก บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ที่เหลืออยู่ล็อตสุดท้ายกว่า 240 สาขา ด้วยมูลค่ากว่า 1.13 หมื่นล้านบาท พร้อมได้รับสิทธิ์ในการขยายสาขาต่อไปในอนาคต จากดีลดังกล่าวจะทำให้เคเอฟซีในประเทศไทยมีการดำเนินงานโดย 3 ผู้บริหารสิทธิ์ ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี) บริษัทในกลุ่มเซ็นทรัล จำนวน 240 แห่ง บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวอร์ลอปเมนท์ จำกัด (อาร์ดี) จำนวนกว่า 100 แห่ง และ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (คิวเอสเอ) ในเครือไทยเบฟ อีก 240 แห่ง จากปัจจุบันที่เคเอฟซี มีสาขรวม 601 แห่ง (ข้อมูล ณ กรกฎาคม 2560)

โดยนางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ คิวเอสอาร์ออฟเอเชีย กล่าวภายหลังการเข้าซื้อสิทธิ์ดังกล่าวว่า การเข้าซื้อร้านสาขาเคเอฟซีเป็นมากกว่าโอกาสในการขยายธุรกิจอาหารของไทยเบฟ ด้วยเครือข่ายอันกว้างขวางของเคเอฟซีในประเทศไทยจะทำให้กลุ่มไทยเบฟสามารถเข้าถึงลูกค้าจำนวนมากทั่วประเทศได้โดยตรง ทำให้เข้าถึงกระแสนิยมต่างๆ และอยู่ระดับแนวหน้าในอุตสาหกรรมนี้ สิ่งนี้สำคัญมากในการเติบโตแบบยั่งยืนในระยะยาว ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการร้านอาหารของคิวเอสเอทำให้เราอยู่ในจุดที่ได้เปรียบในการเร่งขยายกิจการเคเอฟซีออกไปอีกในประเทศไทย เราหวังว่าการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และจะไม่มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มฝ่ายปฏิบัติการเท่านั้น แต่รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้วย

ทั้งนี้การเข้าซื้อกิจการร้านไก่ทอดชื่อดังเคเอฟซีของกลุ่มไทยเบฟ นอกจากการเข้าซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวจะช่วยไทยเบฟขยายสู่ธุรกิจอาหารและเข้าถึงไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันของผู้บริโภคในกลุ่มร้านอาหารบริการด่วนได้แล้ว ยังถือว่าดำเนินงานตามวิชัน 2020 ของ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” แม่ทัพใหญ่ของอาณาจักรที่วางหมากไว้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการผลักดันสัดส่วนยอดขายที่มาจากสินค้าในกลุ่มแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ในสัดส่วน 50:50 หรือมีรายได้อยู่ที่ราว 3 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตเป็น 2 เท่าจากที่เคยประกาศวิสัยทัศน์ไปเมื่อปี 2557 ที่มีรายได้อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท (สิ้นปี 2556) หลังจากที่มีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอยู่ในมือแล้วหลายแบรนด์ไม่ ว่าจะเป็น โออิชิ, เอฟ แอนด์ เอ็น ,เอส เป็นต้น

ด้านนางสาวธัญญา ศรีพัฒนาสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาชิสโสะ จำกัด ผู้ได้รับลิขสิทธิ์ร้านไก่ทอด “บอนชอน” จากประเทศเกาหลี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเข้าซื้อแฟรนไชส์กิจการไก่ทอดรายใหญ่ในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาด QSR เซ็กเมนต์ไก่หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดไก่เมืองไทยหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก แต่โดยส่วนตัวมองว่าการเปลี่ยนมือในครั้งนี้เปรียบเสมือนเพียงการเปลี่ยนมือยักษ์จากยักษ์รายหนึ่งไปยังอีกรายหนึ่งเท่านั้น ซึ่งรูปแบบการทำตลาดก็น่าจะคึกคักและน่ากลัวตามแบบฉบับยักษ์ใหญ่เหมือนเช่นที่ผ่านมา

โดยในส่วนของบริษัทไม่ได้มีการปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับการแข่งขันในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใดซึ่งการดำเนินงานนับจากนี้ยังคงเป็นไปตามแผนงานเดิมที่กำหนดไว้ โดยมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มเติมอีก 3 แห่งจนถึงสิ้นปีนี้ได้แก่ สาขาท่ามหาราช,เมกาบางนา และเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ภายใต้งบประมาณการลงทุนราว 5-7 ล้านบาทต่อสาขา บนพื้นที่ 180-200 ตร.ม.ซึ่งจะทำให้บริษัทมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 31 สาขา

MP40-3287-A “แนวทางการดำเนินธุรกิจของเรานับจากนี้จะให้ความสำคัญกับการขยายสาขาในรูปแบบลงทุนเองเป็นหลัก พร้อมกับการขยายเข้าไปในตลาดต่างจังหวัดที่มีศักยภาพ ขณะที่ตลาดใหม่ เช่น ร้านอาหารบอนชอนในสนามบิน ก็มองว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดมีศักยภาพเช่นกัน โดยบริษัท มาชิสโสะ จำกัด ได้ขายแฟรนไชส์ให้กับ เอสเอสพี อินเตอร์เนชั่นแนล (ในกลุ่มไมเนอร์) เปิดสาขาที่สนามบินดอนเมือง 2 สาขาและสุวรรณภูมิ 1 สาขา”

อย่างไรก็ตามสำหรับยอดขายของบริษัทในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาพบว่าสามารถสร้างการเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเพราะในช่องทางออนไลน์ที่มีการเติบเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นางสาวธัญญา กล่าวอีกว่า หลังจากที่ได้มีการร่วมมือกับ 3 พันธมิตร ได้แก่ ฟู้ดแพนด้า, เชฟเอ็กซพี และกินจังรุกเข้าไปในช่องทางออนไลน์ โดยในช่วงปลายปีนี้มีแผนที่จะพัฒนาช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ของบริษัทขึ้นมาเอง เนื่องจากมองว่าช่องทางดังกล่าวยังมีโอกาสทางการเติบโตสูง เพราะปัจจุบันบริษัทยังใช้ช่องทางนี้ไม่ถึง 2%

ด้านแผนการสร้างแบรนด์ในตลาดระยะยาวจะเน้นการเพิ่มเมนูใหม่ทำโปรโมชันเจาะจงกลุ่มเด็ก ขยายช่องทางขายผ่านดีลิเวอรีให้มากขึ้น ควบคู่กับการจัดกิจกรรมแข่งทานไก่ปีที่ 3 เพื่อตอกยํ้าแบรนด์ไก่ทอดให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ผ่านงบประมาณทางการตลาดในปีนี้ทั้งสิ้น 8 ล้านบาท โดยบริษัทวางเป้าหมายรายได้ในสิ้นปีนี้ไว้ที่ 1,200 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 20% จากปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาพบว่า แม้ตลาดไก่จะเข้าสู่ตลาดที่มีการเติบโตเต็มที่แล้ว แต่กลับมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา และล้วนเป็นแบรนด์ดังในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น “เท็กซัสชิคเก้น” แบรนด์ดังจากอเมริกา ที่ถือสิทธิ์การบริหารงานโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เริ่มดำเนินงานอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมาและได้รับกระแสตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างดีด้วย จุดเด่นของแบรนด์ที่ไก่ทอดมีขนาดใหญ่ รสชาติจัดจ้านถูกปากคนไทย ก็ได้ประกาศแผนงานรุกตลาดระยะยาว ด้วยการเดินหน้าขยายสาขาให้ครบ50 สาขาภายใน 5 ปี จากนั้นพัฒนาไปสู่ระบบแฟรนไชส์ ตามนโยบายของปตท.ที่ต้องการดึงเอสเอ็มอีเข้ามามีส่วนร่วม

ขณะที่แบรนด์ “ฮ็อท สตาร์” จากประเทศไต้หวัน โดย บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ก็ถือเป็นอีกหนึ่งร้านที่แม้จะวางโพสิชันของแบรนด์ให้เป็นแบรนด์สแน็กแบบครบวงจร (ไลฟ์สไตล์สแน็ก) ที่เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่นเป็นหลักที่มีเมนูให้เลือกหลากหลาย แต่ขณะเดียวกันก็จะไม่ทิ้งเมนูไก่ทอดที่ถือว่าเป็นเมนูซิกเนเจอร์ที่ใช้ในการเปิดตัวในช่วงแรกของการเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยทำให้เกิดเป็นภาพจำในตลาดเกิดขึ้น ซึ่งแผนงานต่อจากนี้จะเน้นการพัฒนาเมนูไก่ทอดที่หลากหลาย ควบคู่กับการจัดโปรโมชัน เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า จากปัจจุบันที่บริษัทมีเมนูไก่ทอดภายในร้านทั้งสิ้น 4 เมนู 8 รสชาติ รวมถึงเมนูใหม่ๆอีกด้วย

อนึ่งปัจจุบันตลาดไก่ ถือเป็นเซ็กเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มธุรกิจ QSR ที่มีมูลค่ากว่า 3.5 หมื่นล้านบาท (ตัวเลขปี 2558)โดยมีสัดส่วนถึง 50% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.74 หมื่นล้านบาท และมีอัตราเติบโตต่อเนื่องมากกว่า 10% ต่อปี ขณะที่อาหารกลุ่มอื่นอาทิ แฮมเบอร์เกอร์ และพิซซ่ามีอัตราการเติบโตเพียง 5-9% ต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,287 วันที่ 13 -16 สิงหาคม พ.ศ. 2560