จ่อปรับเป้า! อาหารวูบ 3 ปัจจัยฉุด

14 ส.ค. 2560 | 06:18 น.
3 ปัจจัยลบฉุดส่งออกอาหารสำเร็จรูปวูบ ไอยูยูทำวัตถุดิบอาหารทะเลขาดแคลน ฝนดีผักผลไม้ออกมาก บาทแข็งทุบซํ้ายอด 6 เดือนติดลบ สมาคมผู้ผลิตฯเตรียมปรับเป้าใหม่ ก.ย.นี้

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปจากบริษัทสมาชิกของสมาคมใน 6 กลุ่มสินค้า ประกอบด้วยกลุ่มทูน่า,อาหารทะเล,สับปะรด, ข้าวโพดหวาน,ผักและผลไม้ และอาหารพร้อมทาน ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 ว่า มีปริมาณส่งออกรวม 1.37 ล้านตัน ลดลง 6.75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการส่งออกรูปเงินบาทมีมูลค่า 9.79 หมื่นล้านบาท ขยายตัวลดลง 4.06% และรูปดอลลาร์สหรัฐฯส่งออกมูลค่า 2,824 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 2.23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(ดูกราฟิกประกอบ)

ทั้งนี้มีปัจจัยลบที่สำคัญ 3 เรื่องคือ 1.วัตถุดิบอาหารทะเลในประเทศมีปริมาณลดลง เป็นผลพวงจากการจัดระเบียบการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม(ไอยูยู) ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศสามารถนำเข้าได้เฉพาะจากประเทศที่มีความพร้อมและถูกต้องตามกฎระเบียบและมีเอกสารอย่างถูกต้องเท่านั้น ทำให้ราคาวัตถุดิบสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งออกได้ลดลง

2.สถานการณ์โดยรวมของพืชเกษตรปีนี้มีปริมาณเพียงพอในการผลิต และราคาลดลงจากปีก่อน ทั้งราคาวัตถุดิบและราคาส่งออก เทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปีที่ผ่านมามีสถานการณ์ภัยแล้ง วัตถุดิบผักผลไม้ เช่นสับปะรด ขาดแคลนไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงงานและมีราคาสูง และราคาสินค้าส่งออกสูง จากสถานการณ์ที่พลิกกลับดังกล่าว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าในกลุ่มสับปะรด และกลุ่มผักผลไม้ในครึ่งแรกปีนี้ติดลบเชิงมูลค่าที่ -12.5% และ -6.6% ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ 3 เงินบาทที่แข็งค่ามากสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค ไม่เอื้อต่อการรับคำสั่งซื้อ และกระทบต่อการวางแผนธุรกิจ

7

อย่างไรก็ตามในครึ่งปีหลังของปีนี้ยังมีทั้งปัจจัยบวก และปัจจัยลบที่จะส่งผลกระทบกับการส่งออก โดยปัจจัยบวกที่สำคัญได้แก่ การส่งออกสินค้าในกลุ่มเครื่องปรุงรสและอาหารพร้อมรับประทานยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี มีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องจากเป็นอาหารที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ อีกทั้งเป็นกลุ่มสินค้าที่สามารถออกแบบได้หลากหลายด้านผลิตภัณฑ์และรูปแบบของสินค้า สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ในกลุ่มสินค้าข้าวโพดหวานที่ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่าส่งออก 3,475 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้แหล่งข่าวจากกลุ่มผู้ประกอบการข้าวโพดหวานประเมินสถานการณ์ปีนี้ว่า การส่งออกข้าวโพดหวานน่าจะเติบโตได้ประมาณ 5-10% แต่ขึ้นกับปริมาณวัตถุดิบว่าจะมีเพียงพอต่อความต้องการของแต่ละโรงงานหรือไม่ เพราะจากสถานการณ์นํ้าท่วมในหลายพื้นที่ในเขตภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดหวาน ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินปริมาณใหม่

ส่วนกลุ่มผู้ผลิตสับปะรดกระป๋อง มองว่าในปีนี้ด้านปริมาณส่งออกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% แต่ในทางกลับกันมูลค่าการส่งออกจะลดลง 20% จากการแข่งขันสูงในตลาด และประเทศคู่แข่งมีการลดราคาขายสินค้าลง ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาเพื่อผลักดันสินค้าที่ต่างฝ่ายต้องผลิตให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

34

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายในที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการลดลง เช่น การขาด แคลนแรงงานระดับปฏิบัติการ จากเทคโนโลยีและหุ่นยนต์ยังพัฒนามาทดแทนคนไม่ทันในระยะเวลาอันสั้น และต้นทุนค่าแรงงานไทยสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกที่สำคัญคือ ประเทศคู่แข่งขันส่วนใหญ่ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากประเทศผู้นำเข้า, มาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่ๆ เช่น ด้านแรงงาน ด้านกฎระเบียบ ด้านสิ่งแวดล้อม, นโยบายการค้าของสหรัฐฯที่ยังไม่แน่นอน, ผู้ประกอบการในอาเซียนมีการผลิตสินค้าในลักษณะเดียวกับไทยในต้นทุนและราคาที่ตํ่ากว่า ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มเบี่ยงเบนเลือกสินค้าที่ราคาตํ่ากว่าตามสถานการณ์เศรษฐกิจ

“ทางสมาคมยังไม่ปรับลดคาดการณ์มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปใน 6 กลุ่มลง จากต้นปีคาดการณ์ไว้จะขยายตัวได้ที่ 5% (มูลค่า 2.1 แสนล้านบาท)แต่จะมีการประชุมกรรมการในเดือนกันยายนเพื่อหารือว่าจะปรับคาดการส่งออกใหม่อย่างไร เบื้องต้นยังคาดหวังจะส่งออกได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา (1.99 แสนล้านบาท) หรืออาจจะติดลบเล็กน้อย” นายวิศิษฐ์ กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,287 วันที่ 13 -16 สิงหาคม พ.ศ. 2560