เหยื่อ 'หยวนต้า' ยื่นฟ้อง! 300 ล้าน

13 ส.ค. 2560 | 10:16 น.
ลูกค้า บล.หยวนต้าฯทั้ง 5 ราย ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหาย 300 ล้าน ถูกหลอกซื้อกองทุนที่ไม่มีอยู่จริง ลั่นเดินหน้าทวงความยุติธรรม เหตุบริษัทไม่แสดงความรับผิดชอบ แฉหลักฐานวันเวลาและธนาคารที่โอนเงินหลายครั้งระหว่างปี 55-59

ลูกค้าบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย)ฯ ทั้ง 5 ราย ประกาศเดินหน้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและทวงถามความยุติธรรม กรณีเปิดพอร์ตเล่นหุ้นแล้วถูกพนักงาน บล.หยวนต้าฯชักชวนให้ซื้อกองทุนส่วนบุคคล ต่อมาภายหลังบริษัทแจ้งว่ากองทุนดังกล่าวไม่มีอยู่จริง ขณะที่ลูกค้าได้โอนเงินเข้าบริษัทไปหลายครั้งรวมกันร่วม 300 ล้านบาท

นอกจากบริษัทแจ้งล่าช้าระบุเลิกจ้างนางสาวจัสมิน ดินแดง มาร์เก็ตติ้งที่ดูแลพอร์ตลูกค้าทั้ง 5 ราย แล้ว บล.หยวนต้ายังไม่แสดงความรับผิดชอบจนต้องเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) คดีเลขที่ 73/2560 ก่อนที่ล่าสุดลูกค้ายื่นฟ้องร้องเรียกค่าความเสียหายทั้งสิ้น 301 ล้านบาท ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ พ.1548/2560 โดยฟ้องจำเลยที่ 1 คือ บล.หยวนต้าฯ เดิมชื่อ บล.เกียรตินาคินฯ ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2556 เปลี่ยนชื่อเป็น บล.เคเคเทรดฯ และเปลี่ยนชื่อเป็น บล.หยวนต้าเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 สำหรับจำเลยที่ 2 คือนางสาวจัสมิน

indoor_logo55111114

ด้านโจทก์ประกอบด้วยนางวาสนา ศรีวิตานนท์ เป็นโจทก์ที่ 1 นางสาวพูนศรี เอื้อเจริญศรี ที่ 2 นางเบญจลักษณ์ พินธุโสภณ ที่ 3 นายอำนาจ วิริยะกุล ที่ 4 และนางสาวประไพศรี เกริกไกรเลิศ ที่ 5 สำหรับความเสียหายของลูกค้าหรือโจทก์ทั้ง 5 ราย ผลตอบแทนที่ควรจะได้รวมดอกเบี้ย เป็นเงิน 300 ล้านบาท แบ่งออกเป็นเงินลงทุนที่โจทก์ทั้ง 5 ได้ฝากหรือโอนเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 120 ล้านบาท เงินลงทุนที่โจทก์ทั้ง 5 ได้ฝากหรือโอนเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 เป็นจำนวนเงินรวม 65 ล้านบาท เงินปันผลซึ่งเป็นสิทธิที่โจทก์ทั้ง 5 จะต้องได้รับจากการลงทุน คิดตั้งแต่วันที่เริ่มการลงทุนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2560 เป็นจำนวนเงินรวม 30 ล้านบาท และผลตอบแทนจากราคาหลักทรัพย์หรือกองทุนที่โจทก์ทั้ง5 ได้ลงทุน และจะต้องได้รับจากการลงทุน คิดตั้งแต่วันที่เริ่มการลงทุน ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2560 เป็นจำนวนเงินรวม 80 ล้านบาท

โจทก์ขอถือเอาวันที่ 1 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ทราบจากจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 2 พ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน และถือเป็นวันที่โจทก์ได้ทราบความเสียหายที่แน่นอน โดยมูลค่าความเสียหายที่โจทก์ทั้ง 5 ได้รับจากเงินลงทุน เงินปันผล และผลตอบแทน รวมเป็นมูลค่าความเสียหาย 293 ล้านบาท โดยโจทก์ทั้ง 5 ขอคิดดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2560 เป็นจำนวนดอกเบี้ย 9.2 ล้านบาท โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยเพียง 8.2 ล้านบาท รวมค่าเสียหายและดอกเบี้ยที่โจทก์ทั้ง 5 ขอให้จำเลยทั้ง 2 ร่วมกันชำระรวม 301 ล้านบาท

“โจทก์ขอถือเป็นทุนทรัพย์ในคดีนี้ โดยโจทก์ขอนำพยานหลักฐานเกี่ยวกับการคำนวณค่าความเสียหายเรียนต่อศาลในชั้นพิจารณาต่อไป” ทนายฝ่ายโจทก์กล่าวและว่า นอกจากจะฟ้องดำเนินคดีทางศาลแล้วจะใช้สิทธิทุกช่องทางที่กฎหมายเปิดช่องให้ดำเนินการ เพื่อให้ บล.หยวนต้าฯ ชดใช้ค่าเสียหาย

การชักชวนลงทุนของนางสาวจัสมิน ทำให้โจทก์ทั้ง 5 คน เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าเป็นกองทุนของบริษัทที่มีอยู่จริง เนื่องจากโจทก์เป็นลูกค้าที่เปิดพอร์ตเล่นหุ้นอยู่ที่บริษัท ประกอบกับเอกสารหลักฐานหนังสือต่างๆ ไม่ว่าหนังสือชี้ชวนหรือแจ้งผลตอบแทน มีประทับตราบริษัทและลงนามโดยผู้บริหาร จำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นผู้จัดการกองทุนร่วมกับนายอิศรา เศษธะพานิช

กองทุนแต่ละโครงการมีอายุ 2-3 เดือน กำหนดจ่ายเงินปันผลภายใน 2 สัปดาห์หลังจากปิดงวดบัญชี และมีนโยบายรับซื้อคืนหุ้นตามราคาประกัน โดยสามารถขายคืนหุ้นในกองทุนได้ภายหลังจากปิดงวดบัญชีไปแล้ว 2 สัปดาห์เมื่อราคาหุ้นที่ขายเกินกว่าราคาประกัน กำหนดให้ราคาขายหุ้นคืนอ้างอิงจากราคาปิดของหุ้นเดียวกันในกระดานซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯณ สิ้นวันทำการซื้อขายหุ้นในกองทุน

การโอนเงินส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างปี 2555-2559 โดยโจทก์ทั้ง 5 ราย โอนเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาราชดำริ เลขที่บัญชี 042-2-73633-6 ซึ่งเป็นบัญชีของจำเลยที่ 1 หลายครั้ง แต่บางครั้งจำเลยที่ 2 ให้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาอโศก เลขที่บัญชี 741-2-49497-5 กับบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาโฮมเวิร์ค ราชพฤกษ์ เลขที่บัญชี 683-2-04222-4 ซึ่งเป็นบัญชีธนาคารส่วนตัว จำเลยที่ 2 ให้เหตุผลว่าเนื่องจากบริษัทกำลังเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น แต่เพื่อความต่อเนื่องของการลงทุนในโครงการกองทุนเปิดส่วนบุคคลจึงให้โจทก์โอนมายังบัญชีใหม่ดังกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,287 วันที่ 13 -16 สิงหาคม พ.ศ. 2560