ล้ม‘พรรคเดียวเบอร์เดียว’แรงกระเพื่อมฝ่ายการเมืองถึง กรธ.

13 ส.ค. 2560 | 07:20 น.
กลายเป็นเรื่องร้อนขึ้นมาอีก เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดแนวคิด “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” (ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.) ออกมาโดยเฉพาะ เรื่องเบอร์ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. เขต จากเดิมที่ใช้ระบบลงคะแนน 2 ใบ คือ ระบบเขต และบัญชีรายชื่อ ผู้สมัครพรรคใช้เบอร์เดียวกับเบอร์พรรคได้ เปลี่ยนมาเป็นพรรคเดียวกันแต่มีหลายเบอร์ได้ในเขตเดียวกัน

จากท่าทีตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ยังคงยืนยันแข็งขันว่า “ระบบแยกเบอร์รายเขต” ที่จะนำมาใช้แทน “ระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว” นี้ เป็นวิธีการป้องกันการทุจริตประการหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับตัวผู้สมัครควบคู่ไปกับพรรคการเมือง เขาเชื่อมั่นว่า จะไม่ทำให้ประชาชนสับสน อย่างที่นักการเมืองหลายรายกล่าวอ้าง หากฝ่ายที่เกี่ยว ข้องร่วมกันสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน

[caption id="attachment_193476" align="aligncenter" width="503"] มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.[/caption]

ประธาน กรธ. ยืนยันว่า ประชาชน คือ ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นระบบที่คิดแล้วว่า ยากต่อการซื้อเสียง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้การซื้อเสียงหมดไปได้ เพราะต้องมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ใครมีวิธีที่ดีกว่านี้ก็บอกมาได้ จากเหตุผลที่พรรค การเมืองยกมานั้น ยังมีนํ้าหนักไม่มากพอ

**ปชป. เสียงแตก
สำหรับท่าทีของฝ่ายพรรคการเมืองนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ติดใจเรื่องการกำหนดเบอร์ผู้สมัครส.ส.เขต เพราะเคยมีมาแล้วทั้งหมายเลขที่ตรงกันและไม่ตรงกันกับพรรค และถ้าหากกำหนดออกมาเช่นนั้นจริงก็ต้องปฏิบัติตาม ขณะที่สิ่งที่อยากเห็นมากกว่า นั่นก็คือ ผู้สมัครไม่มีเบอร์ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับต่างประเทศที่จะใช้การพิมพ์ชื่อ และโลโก หรือชื่อพรรคไว้ในบัตรเลือกตั้งแทน เพราะการมีหมายเลขกำกับไว้ทำให้เกิดการซื้อเสียงได้ง่ายขึ้น

ขณะที่ปฏิกิริยาของรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ระบุความเห็นเช่นเดียวกัน ไม่เชื่อว่าหลักการนี้จะใช้ป้องกันการซื้อเสียงได้ แต่จะทำให้เกิดความสับสนทั้งตัวผู้หาเสียงและประชาชนที่ไปลงคะแนน เขาเสนอว่า ให้ผู้สมัครมีหมายเลขเดียวกับพรรคทั้งประเทศน่าจะดีกว่า

1364387141-09-o

ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ให้มุมมองเปรียบเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ด้านหนึ่งเชื่อว่า เป็นวิธีการที่ช่วยป้องกันระบบนายทุนซื้อเสียงแบบทุ่มตลาดได้ เลยไปถึงการใช้โซเชียล มีเดีย ที่วันนี้ก้าวไปไกลเกินกว่าจะควบคุมได้ ด้วยเทคนิคจูงใจและมีโฆษณาแฝงต่างๆ มากมาย

โดยยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ดังเช่น กรณีมีเขตเลือกตั้ง 350 เขต หากเบอร์ผู้สมัครไม่เหมือนกันทั้งหมด ในมุมของ กรรมการบริหารพรรค ที่ต้องการช่วยลูกพรรคลงพื้นที่หาเสียงแต่ละเขตจะทำได้ยาก ด้วยเหตุนี้ พรรคจึงต้องเลือกคนที่ได้รับการยอมรับในพื้นที่ที่โดดเด่นที่สุดมาลงสมัคร บทบาทของ ส.ส.เขตจะมีความหมายมาก เพราะจะต้องทำคะแนนด้วยตัวเองเกือบทุกคะแนนเพื่อไปบวกกับการลงคะแนนแบบเลือกตั้งใบเดียว ถือเป็นข้อดี เพราะป้องกันข้อครหาที่ว่า ส่งเสาไฟฟ้าลงสมัครก็ชนะได้

**พท.เกรงประชาชนสับสน
นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตและมีข้อเสนอให้กับ กรธ.โดยเชื่อว่าระบบที่กรธ.จะนำมาใช้นั้นไม่ได้ดีกว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ประการแรกเหตุผลที่อ้างว่าเพื่อไม่ให้พรรคส่งเสาไฟฟ้าลงสมัครนั้น ยืนยันว่า คงไม่มีพรรคใดที่จะทำเช่นนั้น เพราะพรรคต้องไว้ใจสมาชิกที่จะคัดสรรคนตามระบบไพรมารีที่ กรธ.ได้กำหนดขึ้น การเลือกตั้งใหม่ที่กำหนดให้กากบาทได้บัตรเดียวนั้นจึงมีความหมายทั้งต่อผู้สมัครในเขตและต่อพรรคที่จะต้องคัดผู้สมัครที่ดีลง เพื่อให้ประชาชนเลือกเพื่อให้พรรคได้ทั้งส.ส.เขตและได้คะแนนมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อควบคู่กัน

“หลายฝ่ายเคยคัดค้านแนวคิดของ กรธ.ที่ลดการกาบัตรจาก 2 ใบเหลือใบเดียว กรธ.ชี้แจงว่า เพื่อไม่ให้พรรคส่งเสาไฟฟ้าลงสมัครไม่ใช่หรือ แสดงว่ามาตรการให้กาบัตรใบเดียวป้องกันไม่ให้พรรคส่งเสาไฟฟ้าลงสมัครไม่ได้ผลใช่หรือไม่”

ถัดมาคือ กรณีที่ให้เหตุผลว่า การยกเลิกใช้เบอร์เดียวเพื่อให้ผู้สมัครใช้ความรู้ตัวเอง และลดการพึ่งพาพรรคนั้น ถามว่าจะทราบได้อย่างไรว่า ผู้ที่กาบัตรเขาต้องการเลือกตัวบุคคลหรือพรรค เพราะ กรธ.ให้กาบัตรใบเดียวทั้งๆ ที่หลายฝ่ายคัดค้าน เพราะระบบใหม่แม้ว่าประชาชนไม่อยากเลือกตัวคน แต่อาจต้องการให้พรรคเป็นรัฐบาล จึงต้องการให้ผู้สมัครคนนั้นเพราะตัวพรรคที่สังกัด ดังนั้น ระบบที่จะลดการพึ่งพิงพรรคได้นั้นจึงต้องเป็นระบบ 2 บัตร

58c95fb345662f4f333428b52ec65b0c

นอกจากนี้จากแนวคิดดังกล่าวที่ว่า ต้องการลดการพึ่งพาพรรคนั้น ยังขัดแย้งกับหลักการสร้างความเข้มแข็งให้พรรคการ เมือง เพราะผู้สมัครยังคงต้องพึ่งนโยบายพรรค โลโกพรรคที่ปรากฏ ในบัตรเลือกตั้งทุกใบทั้งประเทศ ถ้าประชาชนต้องการสนับสนุนพรรคก็ดูโลโกพรรค และเลือกตามนั้นอยู่ดี

ส่วนกรณีที่ระบุว่า เป็นการป้องกันการซื้อเสียงทั้งประเทศนั้น ไม่เห็นว่าการใช้เบอร์ต่างกันในแต่ละเขตหรือยกเลิกการใช้เบอร์ไปเลยจะป้องกันการซื้อเสียงได้ เพราะถ้าจะซื้อก็ยังจะซื้อกันอยู่วันยังคํ่า สะท้อนให้เห็นว่า กรธ.ไม่มั่นใจกฎหมายพรรค การเมืองและกกต.ที่เป็นผู้ร่างอยู่หรือไม่ เชื่อว่าการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นและสร้างจิตสำนึกน่าจะป้องกันการซื้อเสียงได้ดีกว่า และกรณีที่กรธ.ระบุว่า การปฏิรูปใช้ความเคยชินไม่ได้นั้น เห็นว่าการปฏิรูป คือการปรับปรุงให้เหมาะสม ดังนั้นข้อเสนอของกรธ.เป็น การปรับปรุงให้เหมาะสมแล้วใช่หรือไม่

ประการสุดท้าย กรณีที่อ้างว่า ประชาชนมีเวลามากมายที่จะจำหมายเลขผู้สมัครได้ คงไม่ผิด แต่เห็นว่าจะไปเพิ่มภาระให้ประชาชนเพื่อจำไปทำไมในเมื่อการใช้เบอร์เดียวกันลดความสับสนได้ ให้ประชาชนเอาเวลาไปศึกษานโยบายของแต่ละพรรคจะดีกว่าหรือไม่

ยืนยันว่า ระบบเดิมตอบโจทย์และเหมาะสมดีอยู่แล้ว เสนอความเห็นด้วยความสุจริตใจเพื่อให้ประชาชนและกรธ.ได้พิจารณาดังกล่าว

ขณะที่ นายภูมิธรรมเวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตแบบกว้างๆ ว่า การร่างกติกาในกฎหมายลูก นอกจากจะไม่ส่งเสริมให้สถาบันการเมืองมีความเข้มแข็งแล้ว กฎกติกาต่างๆ ที่ตั้งไว้ให้พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบมากมายนั้น ขัดแย้งกับความตั้งใจของฝ่ายต่างๆ ที่มุ่งหวังจะให้กฎหมายเป็นเครื่องมือสร้างประชาธิปไตย สร้างการยอมรับและความสามัคคี ร่วมมือกันให้ประเทศหลุดพ้นจากวิกฤติ และกลับคืนมาสู่ความสงบ

**กรธ.ตกผลึก 9 ประเด็น ร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส.
ข้อสรุปเบื้องต้นที่ได้จากการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ รวม 7 ประเด็น ดังนี้

1.ผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรจะถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 2 ปี ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นโดยเพิ่มเติมตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกวุฒิสภา รวมถึงตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรอิสระด้วย กรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะต้องพ้นจากตำแหน่ง

2.ให้นับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งทันทีหลังหมดเวลาหย่อนบัตรเพื่อให้ทราบผลเร็วขึ้น โดยประชาชนสามารถสังเกตการณ์นับคะแนนได้ที่หน่วย

3.ปรับเวลาการหย่อนบัตรเพิ่มขึ้นอีก 1 ชั่วโมง คือ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.

4.ให้แต่ละหน่วยเลือกตั้ง เป็นผู้ดำเนินการจัดลำดับหมายเลขผู้สมัครโดยผู้สมัครจากพรรคการเมืองเดียวกันไม่จำเป็นต้องได้หมายเลขเดียวกัน กรณีผู้สมัครมาถึงก่อนเวลาพร้อมกันให้ใช้วิธีจับสลาก เพื่อให้ผู้สมัครคนดังกล่าวได้แสดงความสามารถโดยไม่ต้องอิงกับกระแสพรรค การเมือง

5.ผู้สมัคร ส.ส.จะต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี เสียค่าธรรมเนียมการสมัครคนละ 10,000 บาท จะได้คืน 5,000 บาท หากได้รับคะแนนมากกว่า 5% ขึ้นไปของจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงในแต่ละเขต

6.การหาเสียงผ่านออนไลน์ ผู้สมัครจะต้องแจ้งให้ กกต.ทราบก่อน และห้ามใช้ช่องทางนี้หาเสียงเพิ่มเติมในช่วง 3 วันสุดท้าย ก่อนลงคะแนนเสียง เว้นแต่เป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้ว

7.ไม่ควรมีการทำโพลล์ ทั้งนี้ ให้ กกต.ไปพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ที่กรธ.ไม่ขัดข้อง แต่มีเงื่อนไขว่าการนำเครื่องดังกล่าวมาใช้จะสามารถขจัดทุจริตได้ดีกว่าการใช้บัตรเลือกตั้งและค่าใช้จ่ายจะต้องไม่แพงกว่าเดิม รวมทั้งต้องมีหลักรับประกันว่าการลงคะแนนจะต้องเป็นความลับ

8.ในบทเฉพาะกาลมาตรา 20(3) กำหนดให้กกต.ดำเนินการหารือการแบ่งเขตกับพรรคการเมืองได้พร้อมปรับเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหน่วยจากเดิม 800 คน เพิ่มเป็น 1,000 คนโดยไม่จำเป็นต้องใช้เขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้งตายตัว

9.การปิดบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ปิดที่หน้าหน่วย โดยไม่เปิดเผยหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,287 วันที่ 13 -16 สิงหาคม พ.ศ. 2560