'Luxury' หมอนโรงแรม 6 ดาว พลิกชีวิต! สู่ธุรกิจพันล้าน

13 ส.ค. 2560 | 11:49 น.
จากอดีตเด็กเกเรที่เรียนจบมาแบบธรรมดาไม่ได้มีเกรดเฉลี่ยเลิศหรู ทำงานเข้าออกอยู่หลายแห่ง เคยแม้กระทั่งถูกไล่ออกจากความผิดที่ไม่สามารถอุทรณ์ได้จากความคิดชั่ววูบ และที่พีกสุดๆคือการคิดสั้นขับรถลงจากสะพานสาทรช่วงกลางดึกโดยหลับตาทั้ง 2 ข้าง ปล่อยให้รถแล่นไปบนถนนตามยถากรรม โดยอธิษฐานในใจว่าหากผู้มีอำนาจกำหนดชะตาชีวิตมนุษย์ต้องการให้ตนเองไม่มีชีวิตอยู่บนโลกก็คงจะหมดเวลาเพียงเท่านี้ แต่หากต้องการให้อยู่ต่อไปก็จะต้องอยู่อย่างยิ่งใหญ่ ปรากฏว่าสัญญาณไฟจราจรเป็นไฟเขียวผ่านตลอดดั่งปาฏิหาริย์

เมื่อโชคชะตากำหนดให้ต้องอยู่สู้ต่อไป คมศานต์ จิวากานนท์ จึงมีแรงฮึดในการคิดหาหนทางในการสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว จนเส้นทางสายอาชีพได้นำพาให้มารู้จักกับรุ่นพี่ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายหมอน และได้ให้โอกาสในการนำสินค้ามาจำหน่ายโดยให้เครดิตมาก่อน จุดเริ่มต้นของการกำเนิดแบรนด์ “Luxury” หมอนโรงแรม 6 ดาวจึงเกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว

**จากวิกฤติสู่โอกาส
คมศานต์ ที่ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีลักษณ์ โฮเทลซัพพลาย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายหมอนโรงแรม 6 ดาว แบรนด์ “Luxury” กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่จำหน่ายหมอนให้กับรุ่นพี่ไปได้สักระยะหนึ่ง โดยเลือกทำเลเป็นคอมมิวนิตีมอลล์ เพราะมองว่าเป็นกลุ่มที่น่าจะมีกำลังซื้อสูง ทำให้มองเห็นช่องทางและโอกาสทางการตลาด จึงเริ่มเดินหน้าหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งสถานที่ผลิต ช่องทางการจำหน่าย ราคาขายตามสถานที่ต่างๆ เพื่อนำมาประเมินว่า จะวางการตลาดไปในแนวทางใด

ทั้งนี้ เมื่อข้อมูลทุกอย่างพร้อม จึงเดินทางเข้าไปที่โรงงานผลิตหมอน และสั่งผลิต โดยมีโจทย์ว่าวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นเส้นใย ผ้าหุ้ม ปลอกหมอน ชื่อแบรนด์จะต้องแตกต่างจากของที่เคยรับมาจำหน่าย แบรนด์ “LUXURY หมอนโรงแรม 6 ดาว” จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนอกจากสินค้าจะแตกต่างแล้ว เรื่องของราคา Luxury ก็ถูกวางตำแหน่งทางการตลาดให้เจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนด้วยราคาจำหน่ายที่สูงกว่าเกือบ 1 เท่าตัวหรือ 1 เท่าครึ่ง เพื่อไม่ให้เป็นการจำหน่ายในตลาดเดียวกัน โดยยังยึดทำเลคอมมิวนิตีมอลล์เป็นหลัก ก่อนขยับขยายไปสู่ใต้ตึกออฟฟิศต่างๆ

“ปัญหาที่ตามมาหลังจากที่ Luxury ได้รับความนิยมก็คือ สินค้าลอกเลียนแบบที่ตนไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ต้องตัดสินใจปรับเปลี่ยนแผนการทำตลาดอีกครั้ง โดยหันมาเลือกใช้วัตถุดิบเส้นใยทำหมอนที่โรงงานไม่นิยมนำมาทำหมอน นั่นก็คือเส้นใยไมโครคลิมป์ (Micro Climp)เนื่องจากมีราคาแพง รวมถึงเกิดความสูญเสียได้ง่าย และการผลิตแต่ละวันได้ปริมาณหมอนน้อยมาก แต่ต้องมีการลงทุนสร้างโรงงานและเครื่องจักรขึ้นเพื่อผลิตหมอนดังกล่าว ซึ่งครั้งนี้มีการจดลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง โดยการทำตลาดช่วงแรกผู้บริโภคก็ยังไม่มีความเข้าใจว่าไมโครคลิมป์คืออะไร และดีอย่างไร แต่หลังจากได้พิสูจน์ก็เริ่มมีคนรู้จัก และมีฐานลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

TP13-3287-A **พร้อมสยายปีกออก ตปท.
สำหรับกลยุทธ์การทำตลาดปี 2560 นั้น(ดูตารางเปิดแผนการตลาด) โดยเฉพาะด้านการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ ล่าสุดบริษัทได้เซ็นสัญญาร่วมกับบริษัท ไท้ ไฮ เจียง (ไชน่า) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายชุดเครื่องนอนยักษ์ใหญ่ในประเทศจีน เพื่อเป็นผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายสินค้า Luxury ในประเทศจีนผ่านแบรนด์ “Luxury Natural Latex”

“จากกลยุทธ์ในการทำตลาดดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 350 ล้านบาทในปี 2560 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 230 ล้านบาท ขณะที่ความร่วมมือในการนำผลิตภัณฑ์ Luxury ไปจำหน่ายในประเทศจีนนั้น คาดว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี โดยมีเป้าหมายในการส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายประมาณ 10 ล้านใบ”

**เพิ่มนวัตกรรมไล่ไรฝุ่น
คมศานต์ กล่าวต่อไปอีกว่า ล่าสุดบริษัทได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกะบัง และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐผ่านโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ซึ่งจะเสาะหาเอสเอ็มอีที่มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับ และนำมาต่อยอดไปสู่งานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยจะเป็นการนำนวัตกรรมอบ และเคลือบด้วยสมุนไพร ซึ่งจะมีคุณสมบัติในการป้องกันไรฝุ่นให้กับผู้บริโภค

ส่วนขั้นตอนในปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นขอจดสิทธิบัตร โดยที่กระบวนการในการวิจัยและพัฒนาเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถวางจำหน่าย และทำตลาดได้ภายในปีนี้ โดยจะเป็นผลิตภัณฑ์เจ้าแรกที่ได้รับการรับรองว่ามีคุณสมบัติในการปกป้องไรฝุ่นได้จริง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,287 วันที่ 13 -16 สิงหาคม พ.ศ. 2560