ตะลุยทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-เมียนมา-ไทย (8)

13 ส.ค. 2560 | 01:00 น.
tp6-3287-b ตอนที่แล้วคณะของเราเดินทางมาถึงเมืองมัณฑะเลย์ตอนคํ่า ก็เลยพุ่งตรงไปที่ร้านต้มยำกุ้งของคุณป้าละไมซึ่งเป็นร้านอาหารยอดนิยมของเมืองนี้ รู้สึกภูมิใจที่คนไทยเข้ามา สร้างชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในธุรกิจร้านอาหารในเมียนมา จบจากอาหารมื้อคํ่าพวกเราก็รีบเข้าที่พักทันทีเพื่อไม่ให้เสียเวลาเพราะเดินทางกันมาทั้งวัน

โรงแรมที่พักของเราในคํ่าคืนนี้คือ โรงแรมมัณฑะเลย์ ฮิลล์ รีสอร์ท (Mandalay Hill Resort Hotel) โรงแรมชื่อดังคู่บ้านคู่เมืองของเมืองมัณฑะเลย์มาช้านาน ตั้งอยู่ติดกับเนินเขาที่เรียกกันว่า Mandalay Hill ซึ่งก็คือที่มาของชื่อของโรงแรมแห่งนี้ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ โรงแรมนี้มีเจ้าของเป็นคนไทย (อีกแล้ว)

เจ้าของโรงแรมมัณฑะเลย์ ฮิลล์ รีสอร์ท คือ คุณเลิศศักดิ์ นพบุรานันท์ ตำแหน่งผู้อำนวยการบริษัท แอลพี โฮลดิ้ง จำกัด นักธุรกิจไทยที่ฝังตัวลงทุนทำธุรกิจอยู่ในประเทศเมียนมามานานกว่า 20 ปี แต่ท่านเป็นคนไม่ชอบทำตัวเป็นข่าวเท่าไหร่ก็เลยอาจยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันในเมืองไทย จากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านเลยทำให้ทราบว่า โรงแรมมัณฑะเลย์ ฮิลล์ รีสอร์ทเป็นโรงแรมแรกๆ ที่กลุ่มนักธุรกิจไทยเข้าไปบุกเบิกเปิดธุรกิจด้านนี้ที่เมืองมัณฑะเลย์ในยุคที่ยังไม่ค่อยมีใครกล้าเข้าไปลงทุน เพราะประเทศเมียนมายังดำเนินนโยบายค่อนข้างปิดทำให้พัฒนาการทางเศรษฐกิจของเมียนมาในขณะนั้นยังล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในอาเซียน แต่ด้วยวิสัยทัศน์อันยาวไกลของท่านที่มองเห็นศักยภาพและโอกาสของเมียนมาก็เลยเป็นทัพหน้าเข้าไปลุยก่อน ผลก็คือ ล้มลุกคลุกคลานอยู่เป็นระยะๆด้วยสถานการณ์ทางการเมืองและภัยธรรมชาติของประเทศเมียนมาเอง

คุณเลิศศักดิ์เล่าให้ฟังว่าเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมเป็นอย่างมากก็คือ การที่เมียนมาถูกสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกประกาศควํ่าบาตรทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งระงับความช่วยเหลือขององค์การการเงินระหว่างประเทศอีกด้วยเมื่อปี 2533 ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมียนมากลายเป็นอัมพาตเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในเมียนมาซึ่งส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมโรงแรมทำให้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงไปด้วย

tp6-3287-a และนอกจากเจอการประกาศควํ่าบาตรแล้ว เมียนมายังต้องมาประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์พายุหมุนนาร์กิสเมื่อปี 2551 อีกรอบ ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมียนมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโรงแรมถึงกับเดี้ยงกันไปเลยทีเดียว ถึงตอนนั้นก็ตัวใครตัวมันแล้วครับ หุ้นส่วนก็ทยอยถอนหุ้นกลับเมืองไทยกันหมด แต่ที่ยังอยู่ก็คือ คุณเลิศศักดิ์ที่ยังฝังตัวทำธุรกิจอยู่ในเมียนมาต่อมาจนถึงวันนี้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในประเทศเมียนมาเริ่มดีขึ้นเมื่อประเทศต่างๆ เริ่มมีท่าทีผ่อนคลายมาตรการควํ่าบาตรเมื่อนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเดินทางเยือนประเทศเมียนมาอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2554 และตามมาด้วยการเดินทางเยือนประเทศเมียนมาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ อีกหลายครั้ง

จนกระทั่งภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งซ่อมที่พรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย สหรัฐอเมริกาก็เริ่มผ่อนคลายมาตรการควํ่าบาตรทางด้านการเงินของ NGO ส่วนสหภาพยุโรปก็ประกาศระงับการควํ่าบาตรเป็นเวลา 1 ปี รวมถึงแคนาดา ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และญี่ปุ่น

ทั้งนี้ จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2555 สหรัฐอเมริกาได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการควํ่าบาตรต่อเมียนมาเพื่อสนับสนุนพัฒนาการด้านประชาธิปไตย โดยอนุญาตให้เอกชนสหรัฐฯ เข้าลงทุนและติดต่อการค้ากับเมียนมาได้ทั้งด้านพลังงาน เหมืองแร่ และบริการทางการเงิน แต่ยังคงมาตรการห้ามขายอาวุธต่อไป และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของเมียนมาก็ดีวันดีคืน โชติช่วงชัชวาลย์มาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรมในเมียนมาคืนชีพกลับมาอีกครั้ง โดยคุณเลิศศักดิ์ได้ปรับปรุงโรงแรมมัณฑะเลย์ ฮิลล์ รีสอร์ท เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เริ่มทยอยเดินทางกลับเข้าไปท่องเที่ยวในประเทศเมียนมา กันอย่างต่อเนื่องโดยมีจุดหมายปลายทางยอดนิยมคือ เมือง มัณฑะเลย์นั่นเอง

โรงแรมมัณฑะเลย์ ฮิลล์ รีสอร์ท ที่คณะของเราเข้าพักในคืนนี้เป็นโรงแรมขนาดใหญ่ 5 ดาว ขนาด 206 ห้อง บนพื้นที่ขนาด 28 ไร่ อยู่ติดกับ Mandalay Hill ซึ่งเป็นเนินเขาที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของเมือง แต่เนื่องจากพวกเราเดินทางมาถึงโรงแรมดึกแล้ว เห็นแต่ตัวโรงแรมขนาดใหญ่ตกแต่งสวยงามสมราคา ส่วนสภาพแวดล้อมรอบๆ โรงแรมมองไม่เห็นอะไรนอกจากเนินเขาที่มีแสงไฟของวัดที่ตั้งอยู่บนนั้นส่องแสงลงมา ก็เลยต้องรีบเข้านอนเพราะพรุ่งนี้จะเป็นวันที่คณะของเราต้องออกเดินทางไกล ซึ่งจะเป็นช่วงที่ใช้เวลายาวนานที่สุด เลยต้องขอเก็บแรงเพิ่มพลังไว้ก่อน...ราตรีสวัสดิ์ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,287 วันที่ 13 -16 สิงหาคม พ.ศ. 2560