ส.สนามกอล์ฟ จี้ สนช. ทบทวนเกณฑ์ ร่างภาษีที่ดินฯ

11 ส.ค. 2560 | 09:50 น.
 

 

วันนี้ (11 ส.ค. 60) - นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับยื่นหนังสือจาก นายพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล นายกสมาคมสนามกอล์ฟไทยและคณะ เพื่อขอความเป็นธรรมแก่กีฬากอล์ฟและผู้ประกอบการสนามกอล์ฟเอกชน ซึ่งตามหนังสือขอความเป็นธรรมระบุว่า

หากร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... ผ่านการพิจารณาของ สนช.จะทำให้สนามกอล์ฟเอกชนที่มีอยู่ประมาณ 300 สนามเศษต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นโดยแต่ละสนามต้องเสียภาษีตั้งแต่ 20 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป ซึ่งจะทำให้สนามกอล์ฟเอกชนไม่อาจอยู่รอดได้จึงขอให้พิจารณาลดหรือยกเว้นภาษีเฉพาะในส่วนของกิจการสนามกอล์ฟเอกชนเท่านั้น ไม่รวมถึงที่ดินโดยรอบสนามกอล์ฟที่กันไว้เพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ นายพรเพชร ประธาน สนช. กล่าวว่า จะได้นำหนังสือฉบับนี้มอบให้แก่ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ การยกเลิกพ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508, กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเป็นผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ, ให้หน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร อบต. กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา โดยรายได้ภาษีที่จัดเก็บได้จะเป็นของ อปท.ที่ทำหน้าที่จัดเก็บ, ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี ได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด 2

ฐานภาษี ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคิดคำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดตามราคาประเมินทุนทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ส่วนอัตราภาษีที่ดินที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.จะเป็นอัตราสูงสุดที่จะจัดเก็บภาษีจากผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยจะจัดแบ่งอัตราภาษีดังกล่าว ออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่ดิน คือ

1.กรณีใช้เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้จัดเก็บภาษีได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.2

2.กรณีใช้เพื่อเป็นที่พักอาศัย ให้จัดเก็บภาษีได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5

3.กรณีใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ (เช่น พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เป็นต้น) ให้จัดเก็บภาษีได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 2 ในส่วนที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน กำหนดอัตราภาษีสูงสุดในกฎหมายให้ อปท. เรียกเก็บภาษีสำหรับที่ดินดังกล่าวในอัตราไม่เกิน 5% ของฐานภาษี

นอกจากนี้ให้ยกเว้นภาษีให้แก่ทรัพย์สินบางประเภท เช่น สาธารณะสมบัติ ทรัพย์สินของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทรัพย์สินของสถานทูต ทรัพย์สินของสภากาชาดไทย ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดและที่ดินสาธารณูปโภคของโครงการจัดสรร ที่มิได้ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทรัพย์สินของเอกชนที่ได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ และบ้านพักอาศัยหลักในส่วนที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เป็นต้น

ทั้งน้ำ สำหรับอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริง จะกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา โดยกำหนดเป็นอัตราก้าวหน้าเพื่อขึ้นตามมูลค่าของฐานภาษี ดังนี้ เกษตรกรรม ตั้งแต่ร้อยละ 0-0.1 ของฐานภาษี

ที่พักอาศัยหลัก ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่ร้อยละ 0.05-0.1 และที่พักอาศัยหลังอื่นตั้งแต่ร้อยละ 0.03-0.3 ของฐานภาษี สำหรับประเภทอื่นๆจัดเก็บตั้งแต่ร้อยละ 0.3-1.5 ของฐานภาษี ส่วนที่ดินว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดินจะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี ตั้งแต่ร้อยละ 1–3 ของฐานภาษี เป็นต้น