คณะกก.วิสามัญฯสภากทม.หั่นงบปี 61 ลดลงได้48 ล้าน

10 ส.ค. 2560 | 12:39 น.
ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร 3 - 6 วันนี้(10 ส.ค.60) นายคำรณ โกมลศุภกิจ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ งบประมาณรายจ่ายฯ ของ 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร สำนักเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร สำนักคลัง การพาณิชย์กรุงเทพมหานคร

bkk3

สำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย สำนักพัฒนาสังคม และสำนักการแพทย์ เพื่อดูความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานครเท่าที่จำเป็น โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่ดูแลแต่ละสำนัก ประกอบด้วย นางสุกัญญา สุวัฒนวงศ์ พล.ต.สุทธิชัย วงษ์บุบผา และ นายแพทย์ พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ร่วมชี้แจง

นายคำรณ โกมลศุภกิจ ประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ เปิดเผยว่า ผลของการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 61 ของ 10 หน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ในวันนี้คณะกรรมการฯ มีการปรับ-ลดงบประมาณฯ ไปทั้งสิ้น 22 ล้านบาท เมื่อรวมกับ 3 วันที่ผ่านมา ปรับ-ลดทั้งสิ้น 48 ล้านบาทเศษ โดยในส่วนที่ปรับลดไปนั้นเป็นโครงการที่ทางคณะกรรมการฯ พิจารณาโดยรอบคอบแล้วคิดว่าทำไม่ได้อย่างแน่นอน และงบประมาณของกทม.ก็มีจำกัด เพื่อให้ฝ่ายบริหารได้ใช้งบประมาณไปกับโครงการฯอื่นๆ ที่จำเป็นมากกว่า แต่หากยังยืนยันว่าโครงการฯ ที่คณะกรรมการฯ ตัดออกมีความสำคัญหากไม่ทำแล้วจะเสียหาย ฝ่ายบริหารก็สามารถเสนอแปรเพิ่มกลับเข้ามาได้ในคราวหลัง

bkk1

นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังมีข้อสังเกตบางหน่วย เช่น หน่วยงานการพาณิชย์ สถานธนานุบาล หรือโรงรับจำนำ ขณะนี้ขาดผู้บริหารหน่วยงานมานานแล้ว ได้ขอให้ฝ่ายบริหารตั้งเข้ามาโดยเร็ว ซึ่งได้รับการชี้แจงจากฝ่ายบริหารกทม.ว่า ขณะนี้มีการสรรหาเสร็จสิ้นแล้ว พร้อมที่จะมีฝ่ายบริหารของสำนักงานธนานุบาลในเร็วๆนี้ ส่วนสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยก็มีปัญหาไม่มีทั้งผู้บริหารและกรรมการ คณะกรรมการวิสามัญฯจึงได้เร่งรัดให้ฝ่ายบริหารกทม.ไปดำเนินการให้เรียบร้อย เพื่อให้การบริหารในสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“ทั้งนี้ในส่วนของสำนักการแพทย์ งบประมาณการก่อสร้างโรงพยาบาลตากสิน ที่มีงบประมาณผูกพันมาตั้งแต่ปี 49 แล้ว นับเป็นเวลา 10 ปี ไม่มีความเคลื่อนไหว คณะกรรมการฯ ได้ศึกษาแผนปฏิบัติราชการประจำปีแล้ว สังเกตว่าไม่มีปรากฏอยู่ในแผนปฏิบัติราชการ จึงได้ขอให้สำนักการแพทย์ไปปรับให้อยู่ในแผนก่อน ส่วนในเรื่องของแพทย์และพยาบาล สนับสนุนให้มี ยิ่งมีมากยิ่งดี โดยฝ่ายบริหารกทม.และสำนักแพทย์ น้อมรับคำแนะนำของคณะกรรมการวิสามัญฯ ว่าสามารถดำเนินการได้”นายคำรณ กล่าวในที่สุด