ทบทวนทุก 3 ปี ใช้เงินภาษีบาป!

11 ส.ค. 2560 | 12:40 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

จี้ทบทวนกองทุนที่เอาเงินจากภาษีบาป ทุก 3 ปี รวมศูนย์ให้อยู่ในกำกับคลัง แนะสตง.สอบใช้เงินตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ขณะที่ทีดีอาร์ไอหนุนใช้ Earmarked Tax ลดความเหลื่อมลํ้า

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ ฉบับที่...พ.ศ...โดยให้อำนาจกองทุนผู้สูงอายุเรียกเก็บเงินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีบาป (ภาษีสุรา เบียร์ ยาสูบ) ในอัตรา 2% แต่ไม่เกิน 4,000 ล้านบาทต่อปีเพื่อจัดสรรให้กองทุนเป็นงบช่วยเหลือและเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย (รายได้ตํ่ากว่า 3 หมื่นบาทต่อปี) ที่มีกว่า 3 ล้านคน จากจำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพทั้งระบบกว่า 8 ล้านคน โดยจะมีผลภายในต้นปี 2561 เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

มติดังกล่าว ส่งผลให้การใช้ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะหรือ Earmarked Tax จากภาษีบาป มีสัดส่วนรวม 7.5% ของรายได้ภาษีบาป (รายได้ภาษีบาปปีงบฯ2559 อยู่ที่ 2.13 แสนล้านบาท ) จัดสรรให้กับ 4 หน่วยงานคือ 1.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สัดส่วน2% หรือประมาณปีละ 4,270 ล้านบาท 2. สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส 1.5% หรือไม่เกิน 2,000 ล้านบาทต่อปี 3. กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ 2% ประมาณ 4,271 ล้านบาทต่อปี และกองทุนผู้สูงอายุ 2% ไม่เกินเพดานที่ 4,000 ล้านบาทต่อปี

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับการเพิ่มอัตราจัดเก็บภาษีบาป เพราะคนกลุ่มนี้พร้อมจ่ายและเพื่อลดการดื่ม แต่การจะนำเงินไปใช้ในอีกกิจกรรมหนึ่งโดยกระบวนการของเงินนอกงบประมาณ ในลักษณะการใช้ Earmarked Tax ผมไม่เห็นด้วย เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองทางรัฐสภา และการใช้เงินภาษีในลักษณะนี้ประเทศไทยจะทำมากไป

หากยังเห็นว่ากองทุนเดิมที่มีอยู่ ทั้งกองทุน สสส. กองทุนพัฒนาการกีฬา หรือไทยพีบีเอส มีความจำเป็นก็ต้องวางนโยบายต่อไปให้มีการทบทวนกองทุนเหล่านี้ ทุก 3 ปีหรือ 5 ปี ตนเคยเสนอไปว่าถึงเวลาที่รัฐบาลควรจะกวาดเงินเหล่านี้รวมเป็นกองเดียวให้หมด และให้กระทรวงการคลังเป็นคนกำกับดูแล เพราะห่วงว่าอนาคตมีโอกาสที่กองทุนในลักษณะนี้จะเกิดปัญหาเดียวกับสสส. คือบริหารตามเงินที่ไหลมา หรือตั้งโจทย์ตามเงินที่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักเศรษฐศาสตร์และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ด้านการปฏิรูปโครงสร้างภาษี กล่าวว่าในหลักการภาษี ส่วนใหญ่จะใช้จากงบประมาณ และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ Earmarked Tax เพราะไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองจากรัฐสภา เช่น กองทุน สสส. ที่อนุมัติเห็นชอบโดยบอร์ดของสสส. ดังนั้นการใช้ในรูปแบบกองทุนลักษณะนี้ จึงต้องจำกัดหรือควบคุมให้มากสุด ไม่เช่นนั้นจะกระทบวินัยการคลัง

การที่รัฐบาลชุดนี้จัดสรรเงินจากภาษีบาปเป็นงบให้กองทุนผู้สูงอายุ เพื่อจะใช้เป็นเครื่องมือดูแลผู้สูงอายุ และการันตีว่ากองทุนผู้สูงอายุมีงบสนับสนุนแน่นอน ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาบริหารก็ไม่ส่งผลกระทบ แต่กองทุนเฉพาะเหล่านี้ เมื่อตั้งขึ้นมาแล้วการตรวจสอบเป็นหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ประเด็นสำคัญคือ การใช้จ่ายเงินของกองทุนเหล่านี้ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ไปใช้จ่ายในโครงการอะไร

TP15-3286-3 “อย่างสสส. ที่สนับสนุนงบให้เอ็นจีโอ ต้องไปตรวจสอบว่าใช้ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ บิดเบือนการใช้งบหรือไม่ ตรงนี้สำคัญกว่า แต่ที่ผ่านมา สตง.จะมุ่งในแง่ความคุ้มค่า พูดง่ายแต่วัดยากเพราะบางโครงการต้องใช้เวลาหรือตัวอย่างเอ็นจีโอที่ออกมาประท้วง การสร้างโรงไฟฟ้า สังคมก็มีคำถามว่าได้งบสนับสนุนมาจากที่ไหน”

ด้านนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า โครงการที่เป็นเรื่องสำคัญต่อประเทศชาติ การไปใช้อำนาจผ่านกระบวนการงบประมาณ อาจไม่สามารถการันตีความแน่นอนจึงต้องใช้ Earmarked Tax เป็นเครื่องมือเพื่อลดความเหลื่อมลํ้าระดับรายได้ หรือแก้ปัญหาความยากจน

ยกตัวอย่างภาษีแวต (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในทุกการใช้จ่าย 100 บาท เป็นของคนรายได้สูง-ปานกลาง 80 บาท และคนรายได้น้อยเพียง 20 บาท สมมติขึ้นภาษีแวตจาก 7% เป็น 10% รายได้รัฐเพิ่ม 2 แสนล้านบาท แต่กลับกันผู้ที่ได้ประโยชน์จากภาษีกลับเป็นคนจนถึง 80% หรือ 1.6 แสนล้านบาท คนรวยแค่ 20% หรือแค่ 4 หมื่นล้านบาท แสดงว่า Earmarked Tax ก็สามารถนำมาเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมลํ้าช่วยคนยากจนได้ แต่ถามว่ากองทุนเดิมยังจำเป็นต้องมีไหม แต่ละฝ่ายก็ยกคีย์เวิร์ดความสำคัญ เช่น กองทุนสสส. อ้างวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ส่งเสริมสุขภาพ เป็นต้น

[caption id="attachment_162989" align="aligncenter" width="503"] นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ[/caption]

ประเด็นการบริหารและความเสี่ยงต่อวินัยการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้ กรมบัญชีกลาง อยู่ระหว่างศึกษาที่จะกำหนดเพดานงบภาษีบาป กล่าวคือกองทุน สสส. และกองทุนเพื่อพัฒนากีฬา ที่ยึดตามเปอร์เซ็นต์ที่ 2 % ของรายได้ภาษีบาป แต่ยังเปิดเพดานสูงสุด โดยรัฐอยู่ระหว่างทบทวนว่าจะกำหนดเพดานสูงสุด เป็นให้ไม่เกิน 2,000 ล้านบาทหรือเป็น ไม่เกินที่ 4,000 ล้านบาท ตัวเลขทั้ง 2 ตัวยังไม่ได้สรุป ยืนยันว่าการใช้ในลักษณะ Earmarked Tax ต่อไปจะไม่มีแน่ เพราะกฎหมายลูก พ.ร.บ. ทุนหมุนเวียนที่อยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกา วางข้อกำหนดวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด ทั้งเพดานการใช้งบ และระบบตรวจสอบอย่างชัดเจน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,286 วันที่ 10 -12 สิงหาคม พ.ศ. 2560