ระบบขนส่งสาธารณะ จ.พิษณุโลก มุ่งพลิกโฉมการพัฒนาเมืองแห่งอนาคต

12 ส.ค. 2560 | 09:00 น.
กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจร และพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก ให้มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล แผนยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งต้องสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาเมืองแห่งอนาคตของเมืองพิษณุโลก (พิษณุโลก 2020) เพื่อมาใช้ข้อมูลประกอบในการบูรณาการแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาจราจรในภาพรวม

โดยสนข.ได้ว่าจ้างให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลกเพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้เกิดการเชื่อมต่อและอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมืองพิษณุโลก
เบื้องต้นนั้นได้กำหนดแนวเส้นทางของระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลกไว้เป็น 5 เส้นทาง คือ

TP12-3285-1 เส้นทางที่ 1 (สีแดง) ใช้รถรางระบบไฟฟ้า(แทรม)ให้บริการ มีระยะทาง 12 กม. จำนวน 17 สถานี เป็นรถโดยสารช่องทางเฉพาะกลางถนน เชื่อมต่อการเดินทางของชุมชนทางด้านทิศตะวันตกไปยังทางด้านทิศตะวันออกของเมือง
เส้นทางที่ 2 (สีนํ้าเงิน) ใช้รถบัสให้บริการ ระยะทาง 11.3 กม. จำนวน 20 สถานี เป็นรถโดยสารที่ใช้ทางวิ่งร่วมกับการจราจรประเภทอื่น เชื่อมต่อการเดินทางจากทิศเหนือไปทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง

เส้นทางที่ 3 (สีส้ม) ใช้รถบีอาร์ทีให้บริการ ระยะทาง 17.8 กม. จำนวน 22 สถานี เป็นรถโดยสารช่องทางเฉพาะบางช่วง เชื่อมต่อการเดินทางของชุมชนทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางด้านทิศตะวันตกของเมือง

เส้นทางที่ 4 (สีเขียว) ใช้รถเมล์ให้บริการ ระยะทาง 15.0 กม. จำนวนสถานี 19 สถานี เป็นรถโดยสารที่ใช้ทางวิ่งร่วมกับการจราจรประเภทอื่นเชื่อมต่อการเดินทางจากทิศตะวันออกไปยังทิศใต้ของเมือง และเส้นทางที่ 5 (สีชมพู) ใช้รถเมล์ให้บริการ ระยะทาง 7.5 กม. จำนวน16 สถานี เป็นรถโดยสารที่ใช้ทางวิ่งร่วมกับการจราจรประเภทอื่น โดยวิ่งเป็นวงกลมบริเวณในเขตเมือง คาดว่าทั้ง 5 เส้นทางจะใช้งบลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้เมื่อเปิดให้บริการจะสามารถรองรับการพัฒนาของเมืองในอนาคตได้อย่างเหมาะสม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,286 วันที่ 10 -12 สิงหาคม พ.ศ. 2560