ปฏิรูปรถเมล์กทม.-ปริมณฑล ยิ่งล่าช้าลูกค้ายิ่งถดถอย

12 ส.ค. 2560 | 09:30 น.
การปรับเปลี่ยนเส้นทางและสายเดินรถโดยสารสาธารณะเป็นหนึ่งในการดำเนินการในการปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานคร- ปริมณฑลที่กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการนั้นยังคงได้รับความสนใจจากประชาชน โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าจะสร้างความสับสนจากการใช้บริการเนื่องจากคุ้นเคยการใช้บริการในรูปแบบเดิมๆนั่นเอง

ทั้งนี้นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้กล่าวถึงการปฏิรูปครั้งนี้ว่านอกจากจะปรับเปลี่ยนเส้นทางตามที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ดำเนินการแล้วยังมีการปรับการกำกับดูแลผู้ประกอบการในด้านคุณภาพ การให้ใบอนุญาตประกอบการเพื่อกำกับการแข่งขันในการประกอบการที่เหมาะสม การส่งผ่านข้อมูลในการกำกับดูแลและวางแผนอย่างต่อเนื่อง และการบูรณาการทางกายภาพของจุดรับส่งผู้โดยสารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผน อำนวยความสะดวก และกำกับดูแลคุณภาพการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะ

โดยหนึ่งในการปฏิรูปหลักคือการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่เดิมให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตในการให้บริการรถเมล์แต่เพียงผู้เดียว ในช่วงที่ผ่านมานั้นถึงแม้ ขสมก. เป็นผู้รับอนุญาตในการให้บริการรถเมล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลแต่เพียงผู้เดียว แต่ในทางปฏิบัติยังได้เปิดโอกาสให้รถร่วมบริการเอกชนเข้ามาร่วมให้บริการในหลายเส้นทาง ทำให้ไม่สามารถกำกับดูแลได้อย่างทั่วถึง เกิดปัญหาในการแข่งขันบนสายทางที่ทับซ้อนกันจนเกิดการขาดทุน ไม่สามารถให้บริการที่ดีได้

TP12-3286-a ++ยัน 1 เส้นทางมีผู้ให้บริการรายเดียว
สำหรับรูปแบบในการปฏิรูปที่กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) นำไปดำเนินการนั้นใน 1 เส้นทางจะมีผู้ให้บริการเพียงรายเดียว และลดการทับซ้อนของเส้นทางเพื่อเปิดโอกาสให้สามารถบริหารจัดการด้านการให้บริการในระดับคุณภาพที่สูงขึ้น ขบ.จะเป็นผู้คัดเลือกผู้ประกอบการ ส่วน ขสมก. นั้นถือว่าเป็นผู้ประกอบการ 1 รายแต่เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจจึงจะมีการประชุมตกลงในการจัดสรรเส้นทางให้ทางขสมก. โดยภายหลังการปฏิรูปจะไม่มีรถร่วมบริการอยู่ภายใต้สัญญาของขสมก. การวิ่งรถบน 1 เส้นทาง หากขสมก.วิ่งบนเส้นนั้นจะไม่มีรถเอกชนวิ่ง และในทางกลับกันก็เช่นเดียวกัน

ในส่วนการปรับเปลี่ยนเส้นทางนั้นจะใช้หลักการเพื่อลดการทับซ้อนของเส้นทางเดิม ปรับเปลี่ยนเส้นทางบางส่วนให้สอดคล้องกับเส้นทางป้อนให้กับรถไฟฟ้า ลดระยะทางของสายทางที่ยาวเกินไปเพื่อเพิ่มความแน่นอนในการให้บริการ ปรับปรุงเส้นทางจากข้อมูลการเดินทางของประชาชน โดยการปรับเปลี่ยนเส้นทางจะอ้างอิงจากโครงสร้างเส้นทางเดิมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนในระยะแรก แต่เส้นทางสามารถปรับเปลี่ยนได้ในอนาคตเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างรถไฟฟ้า และการปรับเปลี่ยนของเมืองที่พัฒนาไปหลายพื้นที่ในปัจจุบัน

TP12-3286-b ++เผยเลขสายทางบ่งบอกพื้นที่บริการ
โดยการระบุเลขสายทางในอดีตและปัจจุบันไม่ได้มีนัยถึงพื้นที่การให้บริการ ในการกำหนดเลขเส้นทางใหม่จึงกำหนดจากพื้นที่หลักที่ให้บริการโดยแบ่งพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลออกเป็น 4 พื้นที่ใหญ่ตามเขต การเดินรถเดิมของขสมก. และระบุสีเพื่อแสดงแทนแต่ละพื้นที่ เลขสายรถใหม่จะนำด้วยอักษรย่อของสีในพื้นที่หลัก (G, Y, R, B) และตามด้วยหมายเลขรถ

การปรับปรุงระบบหมายเลขรถดังกล่าวยังมีเหตุผลเพื่อลดการซํ้ากันของเลขรถในช่วงการเปลี่ยนถ่ายเส้นทางจากระบบเก่าไประบบใหม่ นอกจากนั้นแล้วจะมีการระบุแถบข้างรถให้แสดงแทนแถบสีของพื้นที่ที่รถสายดังกล่าวให้บริการผ่านดังรูปตัวอย่าง

ทั้งนี้เส้นทางทั้งหมด 269 เส้นได้ถูกกำหนดเลขเส้นทางภายใต้กรอบข้างต้น และในการให้ใบอนุญาต ขบ.จะทยอยจัดสรรเส้นทางให้กับทั้ง ขสมก. หรือในส่วนที่เปิดให้เอกชนยื่นขอให้บริการ (โดยการคัดเลือก) โดยพิจารณาตามความพร้อมและข้อจำกัดต่างๆของแต่ละเส้นทาง

ขณะนี้ปรากฏว่าสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก.ออกมาต่อต้านการปฏิรูปเส้นทางดังกล่าวว่าเป็นการสร้างความสับสนให้ประชาชน ทั้งๆที่ ขบ.อยู่ระหว่างการนำร่อง 2 เส้นทางเพื่อทดสอบการให้บริการ ซึ่งตามแผนนั้นจะให้มีการทดสอบทั้งสิ้น 8 เส้นทางโดยใช้รถขสมก.ไปให้บริการ เมื่อได้ข้อมูลจากโครงการนำร่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดรับฟังความเห็นของผู้ใช้บริการครบถ้วนแล้วจึงจะนำไปพิจารณาประกอบการผลักดันในส่วนที่เหลือต่อไป

ส่วนการประมูลเดินรถร่วมเอกชนนั้นขบ.ยังคงเร่งดำเนินการ ท้ายที่สุดแล้วโครงการจะทำได้สำเร็จหรือไม่ยังมีลุ้นกันต่อไป เช่นเดียวกับกรณีที่จะแสดงออกถึงความตกตํ่าของการให้บริการเดิน รถโดยสารสาธารณะ ขสมก.ที่นับวันผู้โดยสารจะลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประชาชนหันไปใช้บริการรถไฟฟ้ากันมากขึ้นนั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,286 วันที่ 10 -12 สิงหาคม พ.ศ. 2560