‘อุตตม’เร่งศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา ชูนโยบายเร่งด่วนเปิดทางอู่ตะเภาหาผู้ลงทุนเพิ่ม

12 ส.ค. 2560 | 08:30 น.
“อุตตม” ยกระดับศูนย์ซ่อมอากาศยานในอีอีซี เป็นนโยบายโครงการเร่งด่วน หวังให้เกิดการพัฒนาโดยเร็ว เปิดทางให้การบินไทย ดึงพันธมิตรรายอื่นร่วมลงทุนมากขึ้นนอกเหนือจากแอร์บัสหลังต่างชาติรายใหญ่แสดงความสนใจร่วมลงทุน
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25กรกฎาคม ที่ผ่านมาได้เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 งบกลางสำหรับค่าใช้จ่ายตามแผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้ทัดเทียมกับสนามบินสุวรรณภูมิโดยต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นเพิ่มเติม ซึ่งจะใช้งบกลางจำนวน 760 ล้านบาทเพื่อศึกษาการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ใน 12 โครงการ ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.64 แสนล้านบาท

โดยหนึ่งในนั้นมีโครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน(MRO) ที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีจี และบริษัท แอร์บัสฯ ที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) ร่วมกันในการลงทุนมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานล่าสุดอยู่ระหว่างการออกแบบคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2560 และจะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2561

จากการดำเนินงานดังกล่าว ในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ในวันที่9สิงหาคมนี้จะมีการพิจารณายกระดับให้การพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานเป็นโครงการเร่งด่วนในเชิงนโยบายขึ้นมา เพิ่มเติมจาก 5 โครงการเร่งด่วนที่ได้มีการเห็นชอบไปแล้ว

TP11-3286-azz แหล่งข่าวจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(สกรศ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ จะมีการพิจารณานำโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน ในพื้นที่ส่งเสริมพิเศษสนามบินอู่ตะเภาขึ้นมาเป็นโครงการเร่งด่วนในการพัฒนา จากปัจจุบันที่ซ่อนอยู่ในโครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาเพื่อให้เกิดเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนที่เร่งด่วนเช่นเดียวกับ5โครงการเร่งด่วนที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีเห็นชอบไปแล้ว

อีกทั้ง เมื่อประกาศการพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศ เป็นระดับนโยบายแล้ว จะช่วยเปิดทางให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขยายความร่วมมือด้านการลงทุนกับเอกชนรายอื่นๆ ที่จะเข้ามาลงทุนได้มากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาได้ลงนามบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู) กับทางบริษัท แอร์บัสฯเท่านั้นที่จะร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท

“เมื่อมีความชัดเจนด้านนโยบายเกิดขึ้น จะทำให้การบินไทย ไปร่วมทุนกับเอกชนหลายรายมากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมอากาศยานต้องใช้เงินลงทุนที่สูง และรัฐบาลต้องการให้เกิดการลงทุนโดยเร็วจากแผนเดิมที่การบินไทยและแอร์บัส ได้ลงนามเอ็มโอยูที่จะร่วมลงทุนใน 6 กิจการหลักเช่นศูนย์ซ่อมใหญ่ ศูนย์ซ่อมย่อย ศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบินและช่าง ศูนย์ซ่อมลำตัวเครื่องบินที่เป็นวัสดุคอมโพสิต โรงพ่นสี และศูนย์โลจิสติกส์ดูแลการขนส่งชิ้นส่วนทางเครื่องบิน และในอนาคตจะขยายไปสู่การสร้างศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์และชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า โดยที่ผ่านมามีนักลงทุนรายใหญ่แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยานไม่ว่าจะเป็นบริษัทโบอิ้งฯที่สนใจจะร่วมลงทุนในลักษณะเดียวกับแอร์บัส ใน2ส่วนหลักๆได้แก่การผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและSimulatorsTrainingCenterเพื่อฝึกหัดนักบินให้เชี่ยวชาญในการบินกับเครื่องบินแบบต่างๆ รวมถึงบริษัทซาบฯที่มีความสนใจจะมาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมรวมถึงบริษัทโรลส์-รอยซ์ฯที่ได้มีการหารือกันรอบหนึ่งแล้ว ก็มีความสนใจที่จะมาลงทุนตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์อากาศยาน เนื่องจากเครื่องบินในภูมิภาคนี้ใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์จำนวนมาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,286 วันที่ 10 -12 สิงหาคม พ.ศ. 2560