คลอดผลการศึกษารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยอง

09 ส.ค. 2560 | 10:50 น.
บอร์ดบริหารอีอีซี รับทราบผลการศึกษารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ลงทุน 2.8 แสนล้านบาท สร้างเสร็จปี 2566 เก็บค่าโดยสาร 300-500 บาทต่อเที่ยว พร้อมสั่งขยายพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภารองรับการลงทุนเพิ่ม

[caption id="attachment_192323" align="aligncenter" width="503"] นายคณิศ แสงสุพรรณ นายคณิศ แสงสุพรรณ[/caption]

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กรศ.มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ศึกษาแนวทางที่รถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อเสร็จแล้ว โดยรถไฟความเร็วสูงนี้จะวิ่งรับส่งผู้โดยสารจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภาและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวน และใช้เวลาเดินทางระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา 45 นาที โดยมีสถานีมักกะสันเป็นสถานีกลางของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

โดยในส่วนช่วงที่ผ่านกรุงเทพชั้นในจะใช้ความเร็วที่ 160 กม./ชม. และจะวิ่งความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. ในเขตนอกเมือง และมีรถด่วนพิเศษเชื่อม 3 สนามบิน และรถธรรมดาที่จอด 10 สถานีระหว่างทาง ส่วนรูปแบบการลงทุนจะให้เอกชนลงทุนทั้งหมด ประกอบด้วย การก่อสร้าง และให้บริการรถไฟความเร็วสูงมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท และลงทุนพัฒนาสถานีมักกะสัน รวมทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงอื่นๆใช้งบก่อสร้างประมาณ 8 หมื่นล้านบาท รวมเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 2.8 แสนล้านบาท

สำหรับโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการตามระเบียบการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และจะประสานงานให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันทันทีที่ 2 โครงการแล้วเสร็จในปี 2566 ซึ่งคาดว่าจะออกหนังสือชี้ชวนการลงทุน (ทีโออาร์) ได้ภายในปลายปีนี้ และเริ่มประมูลได้ในช่วงต้นปีหน้า

“จากการประเมินเบื้องต้น คาดว่าค่าโดยสารรถระหว่างสนามบินดอนเมืองไปยังสนามบินอู่ตะเภาจะอยู่ที่ 500 บาทต่อเที่ยว และจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสนามบินอู่ตะเภาค่าโดยสารอยู่ที่ 300 บาทต่อเที่ยว ซึ่งใกล้เคียงกับค่าโดยสารทางรถสาธารณะในปัจจุบัน แต่มีความรวดเร็ว และสะดวกสบายมากกว่า”

นายคณิศ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเดินหน้าได้รวดเร็ว คณะอนุกรรมการจัดทำระเบียบการร่วมทุนเอกชนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (คณะอนุกรรมการ พีพีพี) และสำนักนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้จัดทำร่างกฎหมายลำดับรองที่จำเป็นในการทำงาน 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างกฎหมายลำดับรองเรื่อง รูปแบบและรายละเอียดของรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ รวมถึงแนวทางและวิธีการในการสนับสนุนเอกชน 2. ร่างกฎหมายลำดับรองเรื่อง คุณสมบัติที่ปรึกษา และ3. ร่างกฎหมายลำดับรอง เรื่องการประกาศเชิญชวน วิธีประกาศเชิญชวน วิธีการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือก และหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเอกชน

โดยโครงการร่วมลงทุนเอกชนที่จะเร่งรัดในโครงการอีอีซี จะมี 4 โครงการ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งความคืบหน้าของทั้ง 2 โครงการนี้ได้จำทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเสร็จแล้ว ส่วนอีก 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำผลศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

นายคณิศ กล่าวว่า ที่ประชุม กรศ. ยังมีมติให้กองทัพเรือ สำนักงานการท่าอากาศยานอู่ตะเภา และสำนักงาน อีอีซี ไปดำเนินการจัดหาพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เนื่องจากมีนักลงทุนต่างชาติหลายรายสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ เช่น โบอิ้ง ซาบ มิตซูบิชิ บริษัทผลิตชิ้นส่วนอากาศยานจากเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งแต่เดิม ได้จัดเตรียมพื้นที่รองรับเฉพาะโครงการร่วมลงทุนของการบินไทยกับแอร์บัส ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขยายพื้นที่เพื่อรองรับนักลงทุนเหล่านี้เพิ่มเติม

สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา จะประกอบด้วยโรงซ่อมเครื่องบินแห่งใหม่ภายใต้แนวคิด Smart Hangar รองรับการซ่อมบำรุงอากาศยานยุคใหม่ โดยเฉพาะ Airbus A350 และยังประกอบด้วยส่วนสำคัญอื่นๆ เช่น โรงซ่อมวัสดุคอมโพสิต ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของลำตัวเครื่องบินสมัยใหม่ ศูนย์อะไหล่ชิ้นส่วน และอุปกรณ์อากาศยาน พร้อมศูนย์ฝึกช่างอากาศยานชั้นสูง