EARTH มั่ว! ฟ้องเรียกธนชาต 6 หมื่นล้าน

09 ส.ค. 2560 | 05:14 น.
EARTH มั่วนิ่มฟ้องแบงก์ธนชาตเรียกค่าเสียหาย 6 หมื่นล้าน อ้างเปิดเผยความลับให้กรุงไทยจนถูกอายัดเงินฝาก ไม่สนพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ที่ให้เปิดข้อมูลได้หากเป็นแบงก์ด้วยกัน เพื่อประโยชน์ให้สินเชื่อ ผงะ 4 บิ๊กโฟร์ไม่รับตรวจบัญชี

บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) (EARTH) เปิดแถลงข่าวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 หลังจากที่บริษัทผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงิน หนี้ตั๋วเงินระยะสั้น หนี้หุ้นกู้ จนนำมาสู่การยื่นขอฟื้นฟูกิจการฝ่ายเดียว เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 และศาลนัดไต่สวนครั้งแรก 18 กันยายนนี้

นายขจรพงศ์ คำดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอิร์ธฯ กล่าวว่า บริษัทตัดสินใจฟ้องร้องดำเนินคดีข้อหาละเมิดต่อธนาคารธนชาต เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากธนาคารธนชาต นำข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินของบริษัทไปเปิดเผยต่อธนาคารกรุงไทย จนเป็นเหตุให้ธนาคารกรุงไทยยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขออายัดเงินของบริษัทเอิร์ธที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของธนาคารธนชาต

P1-3286-a เงินฝากดังกล่าวเป็นเงินที่บริษัทเตรียมจะโอนไปยังประเทศจีน เพื่อใช้สำหรับดำเนินธุรกิจซื้อขายถ่านหินให้กับคู่ค้าในจีนและขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และธนาคารแห่งชาติของจีนแล้วเช่นกัน

“ความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินคือเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งการกระทำของธนาคารธนชาตครั้งนี้เรียกได้ว่าไม่มีจรรยาบรรณ เพราะไม่ยอมเก็บรักษาความลับของลูกค้า”นายขจรพงศ์ ระบุ

นายขจรพงศ์ กล่าวว่า การกระทำของธนาคารธนชาตส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจในประเทศจีน ซึ่งเป็นความหวังที่เหลืออยู่ในการที่จะฟื้นกิจการและธุรกิจให้กลับมายืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง ซึ่งทำให้มีสภาพคล่องหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจมีศักยภาพในการทำกำไรและชำระหนี้ในอนาคตได้

แต่ภายหลังจากการอายัดในบัญชีเท่ากับเป็นการตัดเส้นทางทำมาหากินของบริษัท เพราะทำให้ไม่มีเงินมาใช้จ่ายหรือทำธุรกรรมใดได้เลย แม้แต่การจ่ายเงินเดือนพนักงาน นอกจากนี้ ผู้บริหารของบริษัทมีสิทธิจะถูกดำเนินคดีอาญาเนื่องจากได้มีการเซ็นเช็คไปแล้วจ่ายให้กับกรมสรรพากร จ่ายค่าระวางเรือ เป็นต้น เช็คที่จ่ายออกไปเด้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา

“ถือว่าเอิร์ธ เดินมาถึงทางตันแล้วจริงๆ ไม่สามารถดำเนินธุรกรรมใดได้เลย หากว่าผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้รายใดอยากจะฟ้องร่วมธนาคารธนชาต บริษัทพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานและดำเนินการให้” นายขจรพงศ์ ระบุ

++ธนชาตจ่อฟ้องกลับ
ทั้งนี้พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มาตรา 154-155 ระบุว่า ห้ามมิให้บุคคลผู้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของลูกค้าโดยเหตุที่เป็นผู้มีอำนาจในการจัดการหรือเป็นพนักงานและเปิดเผยความลับนั้น เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า หรือเข้ากรณียกเว้นอื่นตามที่กฎหมายกำหนด เช่น (6) เปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการให้สินเชื่อ (9) เปิดเผยให้แก่บริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจทางการเงินเดียวกัน

นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการ ธนาคารธนชาต ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่ บริษัทเอิร์ธฯ ฟ้องร้องดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นคดีความแล้ว

[caption id="attachment_143814" align="aligncenter" width="440"] สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารธนชาต สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารธนชาต[/caption]

มีรายงานว่าธนาคารธนชาต เตรียมออกแถลงการณ์ฟ้องกลับต่อบริษัทเอิร์ธ เนื่องจากธนาคารมีมาตรฐานในการรักษาความลับของลูกค้าและปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้สถาบันการเงินเจ้าหนี้บริษัทเอิร์ธฯ ล่าสุด ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย 1 หมื่นล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย 2,800 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1,800 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นายขจรพงศ์ กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยเป็นเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน และวันที่ 9 สิงหาคม เวลา 13.30 น. บริษัทเอิร์ธฯ จะเข้าไปเชิญเจ้าหนี้มาร่วมทำแผนฟื้นฟูกิจการ

“ขอยืนยันว่าบริษัทเอิร์ธฯไม่ได้ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ โดยเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับมาจากสถาบันการเงินนำไปลงทุนทำธุรกิจถ่านหินอย่างเดียวเท่านั้น ไม่เคยเอาไปใช้เพื่อการลงทุนในรูปแบบอื่นใดเลย”นายขจรพงศ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ไม่ได้ตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีพิเศษ ตามคำสั่งก.ล.ต.นั้น นายขจรพงศ์ ระบุว่า ไม่ได้นิ่งเฉย บริษัทดำเนินการทันทีตั้งแต่ได้รับคำสั่งของก.ล.ต.แต่เนื่อง จาก บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีระดับ Big4 ของประเทศ ไม่มีใครรับทำหน้าที่ เลยทำให้บริษัทต้องขอขยายระยะเวลาต่อก.ล.ต.

บริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ของไทย 4 อันดับแรก คือ บริษัทดีลอยท์ ทูช บริษัทไพร์ซวอเตอร์เฮ้าส์แอนด์คูเปอร์ฯ บริษัทเอิร์นแอนด์ยัง และ บริษัทเคพีเอ็มจี(ประเทศไทยฯ)

ส่วนกรณีการจัดแพกกิ้งเครดิตปลอมเพื่อกู้เงินนั้น นายขจรพงศ์ กล่าวว่า ไม่ทราบเป็นข่าวได้อย่างไร เราไม่มีเจตนาจะทำ กรณีกู้เงินซื้อหุ้นจากสถาบันการเงิน ยืนยันว่าไม่เคยซื้อหุ้นที่ไหนเป็นการกู้มาร์จินจากโบรกเกอร์เท่านั้น

“ราคาหุ้นที่รูดลงอย่างรุนแรงในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นเหตุให้ผู้บริหารโดนฟอร์ซเซลส่งผลให้ต้องตกเป็นลูกหนี้ของโบรกเกอร์คิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอผ่อนชำระหนี้”

ที่สำคัญผู้บริหารบริษัทเอิร์ธฯได้เสียสละนำหุ้นส่วนตัวไปเป็นหลักประกันให้แก่บริษัทและคํ้าประกันส่วนตัวเต็มวงเงินให้กับสถาบันการเงิน เมื่อหุ้นราคาตก ผู้บริหารมีหน้าที่ต้องจัดหาหุ้นมาเพิ่มเติมให้กับสถาบันการเงิน จึงไม่มีเหตุผลที่จะล้มบนฟูก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,286 วันที่ 10 -12 สิงหาคม พ.ศ. 2560