ผู้ส่งออกเริ่มกังวลยูโรแข็ง อิตาลีกระทบหนักสุดจากการค้ากับสหรัฐฯ

12 ส.ค. 2560 | 05:00 น.
ผู้ส่งออกของยุโรปบางรายเริ่มกังวลกับค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นกว่า 10%ในช่วงปีที่ผ่านมาอย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างจำกัดต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะสั้น

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ค่าเงินยูโรปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา และจนถึงขณะนี้ก็แข็งค่าขึ้นแล้วมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแนวโน้มการแข็งค่าของเงินยูโรก็ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในยุโรปที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะในอิตาลีและฝรั่งเศส เริ่มแสดงความกังวลว่าอาจจะได้รับผลกระทบ

“มีความกังวลเกิดขึ้นว่าการแข็งค่าของเงินยูโรนี้กำลังจะเริ่มส่งผลต่อผลกำไรของบริษัทยุโรป และเราเริ่มมองเห็นจากผลประกอบการในไตรมาสล่าสุด” นายวิลเลียม แฮมลิน นักวิเคราะห์การลงทุนจากมานูไลฟ์ แอสเซ็ท แมเนจเมนต์ กล่าว
นักวิเคราะห์กล่าวว่า พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจะสนับสนุนค่าเงินยูโร เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนตัว และเงินปอนด์ของอังกฤษที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักนับตั้งแต่การลงประชามติถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อปีก่อน

app-euro ขณะเดียวกันผลกระทบของเงินยูโรแข็งค่าจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ อาทิเช่น เยอรมนีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ โดยนายอิลยา นอธนาเกล ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศจากหอการค้าเยอรมัน กล่าวว่า มีการส่งออกเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่ผูกติดกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ตรงกันข้ามกับอิตาลี ที่นายลูโดวิช ซูบราน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากออยเลอร์ เฮอร์เมส ให้ความเห็นว่าจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น

“ถ้าเงินดอลลาร์ต่อยูโรคงที่อยู่ในระดับนี้ เราจะเสียเปรียบ” นางลิเซีย มัตติโอลี รองประธานฝ่ายกิจการต่างประเทศของกลุ่มธุรกิจ คอนฟินดัสเตรีย กล่าว และเสริมว่า ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับการส่งออกซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้รับอานิสงส์จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ “เราส่งออกไปสหรัฐฯ ในหลายธุรกิจ ทั้งแฟชั่น เครื่องประดับ อาหาร รถยนต์ เครื่องจักร และอื่นๆ”

อย่างไรก็ตาม นางลูเซีย ทาโจลี ศาสตราจารย์ด้านนโยบายเศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคในเมืองมิลาน มองว่าเงินยูโรไม่ได้แข็งค่าจนเกินไป และเชื่อว่าภาคการส่งออกของอิตาลีสามารถรับมือกับแรงกดดันได้ในระดับหนึ่ง “พวกเขาอาจจะลำบากเล็กน้อย แต่ไม่น่าจะมีผลกระทบหนักมาก”

MP21-3286-1a สำหรับฝรั่งเศส นักวิเคราะห์มองว่าการแข็งค่าของเงินยูโรจะกระทบหนักในบางธุรกิจ เช่น ธุรกิจเครื่องบิน แต่บริษัทใหญ่ๆ ก็แสดงให้เห็นในอดีตที่ผ่านมาว่าสามารถปรับตัวรับมือกับการแข็งค่าของยูโรได้ ขณะที่ในสเปนคาดว่าผลกระทบจะมีไม่มากนัก เนื่องจากปัจจุบัน 2 ใน 3 ของการส่งออกของสเปนเป็นการส่งออกภายในประเทศกลุ่มอียู อย่างไรก็ดี การส่งออกไปภายนอกอียูซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปีเติบโตได้ 5% อาจได้รับผลกระทบในที่สุด

การแข็งค่าของเงินยูโรในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นไปตามเป้าหมาย และนักลงทุนมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งยุโรป หรือยูโรสแตตระบุว่า เศรษฐกิจของ 19 ประเทศสมาชิกยูโรโซนเติบโตขึ้น 0.6% ในไตรมาส 2 ของปีเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเศรษฐกิจเติบโต 2.1%

ซูบรานกล่าวว่า ในขณะนี้คาดว่าเงินยูโรแข็งค่าจะส่งผลกระทบอย่างจำกัดต่อการเติบโตของยูโรโซน เพียงประมาณ 0.1% ของจีดีพีในปีนี้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าค่าเงินยังแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ผลกระทบต่อการเติบโตอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.3-0.4% ในปีหน้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,286 วันที่ 10 -12 สิงหาคม พ.ศ. 2560