นิวยอร์กรีดภาษีคนรวย เป็นทุนซ่อมรถไฟใต้ดิน

12 ส.ค. 2560 | 01:48 น.
มหานครนิวยอร์ก เตรียมจัดเก็บภาษีรายได้คนรวยเพิ่ม 0.5% เป็นอัตรา 4.4% เพื่อนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีไปใช้ซ่อมแซม-ปรับปรุงรถไฟใต้ดินและสนับสนุนโครงการตั๋วโดยสารราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อย

มาตรการดังกล่าวเป็นความริเริ่มของนายบิล เดอ บลา สิโอ นายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก ที่เสนอแผนเก็บภาษีเพิ่มจากบุคคลที่มีรายได้สูงเพื่อนำเงินมาปรับปรุงบริการรถไฟใต้ดินของมหานครนิวยอร์กที่ทรุดโทรม รวมทั้งยกระดับบริการรถโดยสารสาธารณะ รวมทั้งการนำเงินไปสนับสนุนโครงการตั๋วโดยสารครึ่งราคาสำหรับผู้มีรายได้น้อย

สำหรับผู้ที่อยู่ในข่ายจะต้องถูกจัดเก็บภาษีรายได้เพิ่มขึ้นภายใต้มาตรการดังกล่าว (ซึ่งถูกเรียกขานอย่างไม่เป็นทางการว่า “ภาษีมหาเศรษฐี” หรือ millionaire tax) นั้นได้แก่ คู่สมรสที่มีรายได้เกินปีละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคนโสดที่มีรายได้สูงกว่าปีละ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 32,000 คน หรือไม่ถึง 1% ของจำนวนประชากรผู้เสียภาษีทั้งหมดของมหานครนิวยอร์ก ส่วนอัตราภาษีที่จะเก็บเพิ่มนั้น คือเพิ่มขึ้นจากประมาณ 3.9% เป็น 4.4% หรือเพิ่มขึ้นราว 0.5%

มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาบริการรถไฟใต้ดินที่เสื่อมโทรม มีปัญหารถเสียบ่อยครั้งรวมทั้งอุบัติเหตุทำให้ต้องหยุดบริการ อีกทั้งจำนวนรถไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเข้าขั้นวิกฤติจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่ก็ติดขัดในเรื่องของงบประมาณสนับสนุนการซ่อมแซมและปรับปรุง โดยเฉพาะในกรณีที่นายบลาสิโอเสนอให้จัดเก็บภาษีเพิ่มจากผู้มีรายได้สูงนั้น ได้ถูกคัดค้านมาเป็นระลอกๆ ว่าแท้จริงแล้วใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้กันแน่

[caption id="attachment_191977" align="aligncenter" width="503"] บิล เดอ บลาสิโอ นายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก (เนกไทแดง) บิล เดอ บลาสิโอ นายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก (เนกไทแดง)[/caption]

สำนักงานขนส่งมวลชนมหานครนิวยอร์กประมาณการว่า โครงการซ่อมแซมและปรับปรุงระบบรถไฟใต้ดินของมหานครนิวยอร์กอย่างเร่งด่วนนั้น จะต้องใช้เงินงบประมาณราว 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่าที่ผ่านมา มีการขึ้นค่าโดยสารทุกๆ 2 ปี โดยการขึ้นค่าโดยสารครั้งล่าสุดมีขึ้นในเดือนมีนาคม โดยบัตรโดยสารรายเดือน “เมโทรการ์ด” ได้ขยับราคาอีก 4.50 ดอลลาร์ เป็นใบละ 121 ดอลลาร์ (หรือราว 3,900 บาท) “แทนที่จะผลักภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวชนชั้นแรงงาน อีกทั้งผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะต่างก็ได้รับแรงกดดันมากอยู่แล้วจากค่าโดยสารที่สูงขึ้นและบริการที่แย่ลง เราจึงขอร้องให้ผู้มีรายได้ในกลุ่มสูงสุดใน มหานครแห่งนี้ เจียดเงินเพิ่มอีกเล็กน้อยมาช่วยขับเคลื่อนระบบขนส่งมวลชนของเราสู่ศตวรรษที่ 21” นายบลาสิโอกล่าวในแถลงการณ์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดว่ามาตร การดังกล่าว จะทำให้มหานครนิวยอร์กมีรายได้เพิ่มปีละ 700- 800 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ความพยายามของมหานครนิวยอร์กเป็นหนึ่งในกระแสที่กำลังได้รับพลังขับเคลื่อนมากขึ้นๆ และอาจกลายเป็นกระแสระดับชาติ โดยก่อนหน้านี้เมืองซีแอตเติลและซานฟรานซิสโกก็ประสบความสำเร็จมาแล้ว กับมาตรการลดค่าโดย สารครึ่งราคาให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ขณะที่บอสตันและมินนิอาโพลิส ก็กำลังนำเสนอมาตร การลักษณะเดียวกันตามมา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,286 วันที่ 10 -12 สิงหาคม พ.ศ. 2560