สธ.รณรงค์คนไทยลดเค็มห่างไกลNCDsจ่อดันเข้าครม.

08 ส.ค. 2560 | 03:44 น.
สธ.ตั้งวงถก“เค็มน้อยอร่อยได้ ห่างไกล NCDs” หวังผลักดันเข้า ครม. รณรงค์คนไทยลดทานเค็ม

นพ. อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วย นพ. พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบสาธารณสุข สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค, ผศ. นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และ ดร. ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและโภชนาการ ร่วมเป็นวิทยากรอภิปรายในหัวข้อ : เค็มน้อยอร่อยได้ ห่างไกล NCDs ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในงาน มหกรรมสุขภาพโรคไม่ติดต่อ (NCD Forum 2017) เป็นการประชุมวิชาการเพื่อการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ โดยระดมผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการป้องกันปัญหาโรคไม่ติดต่อในระดับชาติ ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์บูรณาการโรคไม่ติดต่อยุคไทยแลนด์ 4.0” (NCD Thailand 4.0 : Moving forward) หลังพบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตของประชากร 3 ใน 4 มีสาเหตุจากโรคไม่ติดต่อ

โดยนายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกวันนี้สภาวะการทานเค็มของคนไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง จึงต้องช่วยกันลดเค็ม คิดว่าสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะช่วยกันก็คือ ต้องใช้กลไกขับเคลื่อนที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์และความมีส่วนร่วม เพราะว่าจะให้กระทรวงฯ ทำอยู่ด้านเดียวไม่ได้ สิ่งที่จะใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ สมัชชาสุขภาพ ซึ่งเป็นความร่วมมือของส่วนต่างๆ ที่มีอยู่ในทุกท้องที่ ที่จะทำให้รู้ว่า เมื่อบริโภคเค็มมากๆ แล้ว จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้มากขึ้น คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะมีโอกาสป่วยมากขึ้น คนที่ป่วยแล้ว ก็จะมีภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องใช้กลไกของสมัชชาสร้างความรับรู้ และพยายามปรับพฤติกรรมการบริโภคเค็มในชุมชน ซึ่งตอนนี้ทางกระทรวงฯ กำลังเสนอยุทธศาสตร์ลดเกลือลดเค็มเข้าสู่ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อจะให้ส่วนราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อแก้ไขการบริโภคในประชาชนคนไทยต่อไป

ขณะที่ ดร. ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและโภชนาการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่เป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง ในสภาวะการณ์เช่นนี้ ทำให้ทราบว่า การทานรสเค็มจัดของคนสมัยนี้ ช่างน่ากลัวเหลือเกิน และมีปริมาณมากขึ้น นโยบายของประเทศไทยก็พยายามจะลดการทานอาหารเค็มให้มากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้ เวลาเข้าครัวก็จะพยายามเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญญาลักษณ์เพื่อสุขภาพเป็นอันดับแรก และจะพยายามทำอาหารที่มีความเค็มลดลง โดยจะไม่พยายามบอกแล้วว่า อาหารจานนี้อร่อย แต่จะบอกว่า อาหารจานนี้ควรรับประทาน เพราะว่าไม่เค็ม เพื่อเป็นการช่วยรณรงค์ให้คนทานเค็มกันน้อยลง