กกพ.เปิดประมูลรับซื้อไฟจากเอสพีพีไฮบริด 300MW

09 ส.ค. 2560 | 05:10 น.
กกพ. ออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm พ.ศ. 2560 มีเป้าหมายการรับซื้อไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ ในอัตรารับซื้อแบบ FiT ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2564

[caption id="attachment_191136" align="aligncenter" width="503"] นายวีระพล จิรประดิษฐกุล นายวีระพล จิรประดิษฐกุล[/caption]

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกของ กกพ. เปิดเผยว่าตามที่ กกพ. ได้ออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ได้แก่ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังน้ำขนาดเล็ก (ขนาดกำลังผลิตติดตั้งระหว่าง 0.1 -10 MW ต่อเครื่อง) ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยสามารถมีประเภทพลังงานหมุนเวียนที่นำมาผลิตไฟฟ้าได้ตั้งแต่หนึ่งประเภทขึ้นไป ในแบบ SPP Hybrid Firm ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560

สำหรับการดำเนินงานนั้น ในระหว่างวันที่ 7 – 21 สิงหาคม 2560 ทางการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) จะเปิดรับตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้า และภายในเดือนกันยายน 2560 กกพ. จะจัดประชุมชี้แจงเพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้า และจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าในระหว่างวันที่ 2 – 6 ตุลาคม 2560 และภายในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 กกพ. จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและการประเมินข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค และจะพิจารณาเปิดซองข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคา ภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2560 และจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2560

ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลากำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) จากเดิมภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการมีเวลาในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ การยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าในโครงการ SPP

นายวีระพล กล่าวอีกว่า สำหรับการยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าในโครงการ SPP Hybrid Firm นี้ เป็นการเปิดรับซื้อรายใหม่เท่านั้น และต้องมีกำลังผลิตติดตั้งต่อโครงการมากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ ที่ขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. และต้องมีความพร้อม 4 ด้าน คือ ความพร้อมด้านเชื้อเพลิง ด้านที่ดิน ด้านเทคโนโลยี และด้านแหล่งเงินลงทุนโครงการ

รวมทั้ง จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ 1) โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หรือเงินอุดหนุนอื่นๆ 2) โครงการที่เคยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าแล้ว และ 3) โครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่

โดยลักษณะของโครงการ SPP Hybrid Firm จะต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า 100% ในช่วง Peak และไม่เกิน 65% ในช่วง Off-peak โดย กฟผ. จะมีบทปรับหากคู่สัญญาไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามสัญญาในช่วง Peak นอกจากนี้ โครงการ SPP Hybrid Firm ยังสามารถใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ประเภท และอาจใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ร่วมได้ กรณีใช้เชื้อเพลิงชีวมวลหรือก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) จะต้องมีแผนการพัฒนาเชื้อเพลิงใหม่เพิ่มเติมร่วมด้วย เช่น การปลูกพืชพลังงาน ไม้โตเร็ว ในสัดส่วน 20% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ โดยโครงการดังกล่าวมีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี ซึ่งสัญญาประเภท Firm จะช่วยทำให้การจ่ายไฟฟ้ามีเสถียรภาพและสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้า