รัฐเร่งขับเคลื่อนเอนเนอร์ยี 4.0 คัด 7 พื้นที่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ

08 ส.ค. 2560 | 23:13 น.
ภายใต้นโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือ Thailand 4.0 ที่รัฐบาลกำลังผลักดันการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมและดิจิตอล เพื่อยกระดับให้ประเทศมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น หลุดพ้นกับดักจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ที่สูงขึ้น
กระทรวงพลังงาน เป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง ที่ได้กำหนดนโยบายพลังงาน 4.0 หรือ Energy 4.0 ให้สอดคล้องกับนโยบายชาติ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ และเพิ่มมูลค่ามากขึ้น ผสมผสานการใช้พลังงานสะอาด และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

ชูนวัตกรรม4โครงการหลัก หากมาไล่เลียงการดำเนิน งานภายใต้นโยบาย Energy 4.0 ก็จะพบว่าเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมพลังงานฐานนวัตกรรมใหม่ๆ ใน 4 โครงการหลักแล้ว ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle:EV) ที่ขณะนี้เริ่มทยอยการติดตั้งสถานีอัดประจุ ไฟฟ้า ผ่านโครงการนำร่องในหน่วยงานราชการ-รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาของรัฐ และเอกชน ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในสัดส่วนถึง 70% ของเงินลงทุน โดยในปีนี้วางเป้าหมายไว้ที่ 150 สถานี และจากที่รัฐบาลวางเป้าหมายไว้ว่าภาย ในปี 2579 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าถึง 1.2 ล้านคัน ทางกระทรวงพลังงานจะผลักดันให้เกิดสถานีชาร์จไฟฟ้าไว้ 690 สถานี

รวมทั้งมีโครงการสนับสนุนเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กเก่าเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสนับสนุนงบประมาณปรับเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 20,000 คันภายใน 5 ปี โดย 2 ปีแรกนำร่องจำนวน 100 คัน

++ลดนำเข้าเทคโนโลยี
นอกจากนี้ ด้วยกระแสของการพัฒนาพลังงานทดแทนที่เติบโตมากขึ้น รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะมา ทำให้กระทรวงพลังงาน เห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) มาใช้ในระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า จากพลังงานทด แทนให้มีเสถียรภาพมากขึ้น และเป็นการช่วยสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์อีวีได้อีกทางหนึ่ง

1464157596957 โดยพล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เห็นว่า หากไม่มีการวิจัยและพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานของประเทศในเวลานี้ ก็จะต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาทั้งหมด หากสามารถทำวิจัยและพัฒนาได้เองจะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศ ดังนั้นในระยะแรกนี้ทางกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จึงได้ให้ทุนวิจัยและพัฒนาด้านนี้ประมาณ 765 ล้านบาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีของไทยเอง ปัจจุบันมีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนรอบแรก 32 โครงการ และอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำกรอบวิจัยเพื่อเปิดรับข้อเสนอระยะที่ 2 ต่อไป โดยกระทรวงพลังงานตั้งเป้าการพัฒนาให้เกิดเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงกลางปี 2561

อีกทั้ง ยังมีโครงการ SPP Hybrid Firm ที่จะเปิดให้มีการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่า 1 ประเภททั้งพลังงานจากธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์ ลม กับพลังงานชีวภาพ เช่น ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ รวมถึงการใช้ควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อลดความผันผวนของพลังงานทดแทน สร้างความมั่นคงต่อระบบไฟฟ้า และยังลดการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่โดยไม่จำเป็น มีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าทั่วประเทศ 300 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 10-50 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มประกาศหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าได้ภายในเดือนตุลาคมปีนี้

TP10-3285-A ++สร้างเมืองอัจฉริยะ
รวมถึงโครงการกลุ่ม Smart ประกอบด้วย โครงข่ายอัจฉริยะ (Smart Grid) ที่จะพัฒนาสายส่งไฟฟ้าเพื่อบริหารจัดการไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ จากการผลิตไฟฟ้าที่จะกระจายไปตามพื้นที่ที่มีการใช้ไฟฟ้า แทนการสั่งจ่ายไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำโครงการนำร่องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

โครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) ที่มีเป้าหมายให้มีพื้นที่หรือเมืองต่างๆ เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน ซึ่งปัจจุบันได้คัดเลือกแผนงานโครงการสร้างต้นแบบเมืองอัจฉริยะไว้ 7 แห่งเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ 1. นิด้า:มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ รู้รักษ์พลังงาน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 2. มช. (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาด 3. เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ 4. ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต: ต้น แบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ 5. วิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน 6. ขอนแก่น Smart City (ระยะที่ 1):ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง 7. เมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง

โดยขั้นตอนต่อไปผู้ได้รับคัดเลือกจะต้องจัดทำโมเดลธุรกิจ (Business Model) เพื่อให้สามารถนำไปใช้ และนำไปสู่การจัดหาผู้ร่วมทุนและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เป็นรูปธรรมต่อไปได้

++เร่งสร้างความเข้าใจ
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาพลังงานถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะมารองรับกับความต้องการที่สูงขึ้น และมีราคาที่เหมาะสม ภายใต้การนำนวัตกรรมมาใช้ ซึ่งไม่เพียงกระทรวงพลังงานจะผลักดันเท่านั้น แต่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อน “Energy 4.0” ให้เกิดขึ้น

โดยเฉพาะการสื่อสารทำความเข้าใจกับภาคประชาชน ทางสนพ.กำลังเร่งดำเนินงานให้สาธารณชนเข้าใจและทราบถึงทิศทางการขับเคลื่อน ผ่านคลิปวิดีโอ “Energy 4.0” ที่นำ “ฮีโร่พลังคิด” ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์ของ สนพ. มาเป็นตัวเอกเดินเรื่อง จัดทำในรูปแบบภาพยนตร์แอนิเมชันความยาวประมาณ 3 นาที เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับทิศทางด้านพลังงาน ของไทยในอนาคตว่าจะมีรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนโฉมไปอย่างไร

++ลดโรงไฟฟ้าหมื่น MW
ทั้งนี้ ภาครัฐตั้งเป้าหมายจากนโยบาย Energy 4.0 ดังกล่าวว่า จะเป็นส่วนหนึ่งให้ประเทศไทยก้าวสู่จุดหมายลดการใช้พลังงานลงได้ 30% ภายในปี 2579 ลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลลงประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 111 ล้านตันต่อปี

ขณะที่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการนำนวัตกรรมมาช่วยนั้น จะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง 89,000 ล้านหน่วย หรือลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลงได้ 10,000 เมกะวัตต์ และการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนจะเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 40% ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,285 วันที่ 6 -9 สิงหาคม พ.ศ. 2560