ทัพทุนจีนทะลักเข้ามาเลเซีย 5ปีลงทุนเพิ่มเป็น1.5แสนล้านดอลลาร์

06 ส.ค. 2560 | 07:00 น.
นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 2555 การลงทุนของจีนในประเทศมาเลเซียก็เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ โดยผู้นำจีนเองได้เคยระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับมาเลเซียภายใต้รัฐบาลนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค นั้น “ดีที่สุด” เท่าที่เคยมีมา

ความสัมพันธ์ที่ชื่นมื่นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจากเม็ดเงินลงทุนของจีนราว 7,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่หลั่งไหลเข้าสู่โครงการฟื้นฟูและพัฒนามะละกา เมืองหลวงของรัฐมะละกาที่ตั้งอยู่ในบริเวณช่องแคบมะละกา เส้นทางการค้าที่มีความสำคัญในยุคอดีต โดยจีนนั้นต้องการสร้างท่าเรือนํ้าลึกแห่งใหม่ขึ้นที่นั่น นอกจากนี้ ยังให้ความสนับสนุนด้านการเงินแก่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการในพื้นที่ชายฝั่งด้านตะวันออกของมาเลเซีย (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานเสียงสำคัญของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ที่กำลังจะเข้าสู่สนามการเลือกตั้งอีกครั้งภายในปีนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ความสัมพันธ์ทางด้านการค้าระหว่างจีนและมาเลเซียยังมีความรุดหน้า โดยรัฐบาลจีนให้คำมั่นว่าจะนำเข้าสินค้าจากมาเลเซียเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่ารวม 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 8 เท่าเมื่อเทียบกับมูลค่าในปี 2559 นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าจะลงทุนเพิ่มในมาเลเซียเป็น 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในระยะเวลาดังกล่าว และจะ ให้การสนับสนุนด้านสถานที่ฝึกอบรมแก่บุคลากรของมาเลเซียใน ประเทศจีนจำนวนกว่า 10,000 แห่ง

MP20-3285-A เมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีนาจิบเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2559 ทั้ง 2 ประเทศได้เซ็นสัญญาความร่วมมือด้านการค้า-การลงทุนคิดเป็นมูลค่ารวมๆ กว่า 33,600 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่าเป็นมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ และในครั้งนี้รวมถึงสัญญาซื้อขายเรือตรวจการณ์ 4 ลำจากจีนด้วย

จีนแซงสิงคโปร์ขึ้นมาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของมาเลเซียนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา การค้า 2 ฝ่ายในปี 2559 มีมูลค่ารวม 83,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจีนยังมีบทบาทเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของมาเลเซียอีกด้วย นักวิเคราะห์กล่าวว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่จีนและมาเลเซียจะมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างแน่นแฟ้น เนื่องจากมาเลเซียเองมีประชากรเชื้อสายจีนอยู่ประมาณ 25% และในอดีตเรือสินค้าจากจีนก็มักจะแวะเทียบท่าที่มะละกาและปีนังเพื่อนำสินค้าอย่างผ้าไหม ชา และเครื่องกระเบื้องมาจำหน่าย แล้วซื้อเครื่องเทศ อาทิ อบเชยและจันทน์เทศ กลับไป

ข้อมูลจากงานวิจัยของธนาคารดีบีเอสชี้ว่า บริษัทจีนเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดในโครงการด้านการก่อสร้างในประเทศมาเลเซีย คิดเป็นมูลค่า 8,000 ล้านหยวน หรือ กว่า 1,200 ล้านดอลลลาร์สหรัฐฯในปี 2558 หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งของโครงการก่อสร้างที่ดำเนินงานโดยบริษัทต่างชาติ

แม้ว่าเม็ดเงินลงทุนจากจีนจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย แต่ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดดังกล่าวก็ตกเป็นเป้าตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเช่นกัน ว่าผู้นำมาเลเซียอาจนำผลประโยชน์ของประเทศชาติไปแลกกับเม็ดเงินลงทุนก้อนโต หนึ่งในผู้โจมตีในเรื่องนี้คือ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังมีการติงเตือนว่า การมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมากเกินไป อาจจะทำให้มาเลเซียประสบกับปัญหาความขัดแย้งด้านเชื้อชาติได้มากขึ้น เช่นระหว่างประชากรเชื้อสายจีนและเชื้อสายมุสลิม และอาจทำให้ขาดเสถียร ภาพทางการเมือง

ในการสัมมนาว่าด้วยเรื่องแผนยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน ซึ่งจัดขึ้นที่มาเลเซียเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้แทนจากกระทรวงการค้ามาเลเซียยอมรับว่า รัฐบาลจำเป็นจะต้องรักษาความสัมพันธ์กับจีนให้มีความสมดุล การลงทุนของจีนในมาเลเซียจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมสำหรับทั้ง 2 ฝ่าย เพราะบนความสัมพันธ์ที่ทั้ง 2 ประเทศมีต่อกันนั้น ไม่ได้หมายความเพียงว่า สินค้าจากจีนจะหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดมาเลเซีย ไม่ใช่แค่เม็ดเงิน จากจีนจะไหลเข้ามา และไม่ใช่ว่า แรงงานจีนจะมาสู่ตลาดมาเลเซียแต่เพียงฝ่ายเดียว รัฐบาลมาเลเซียจะต้องทำทุกวิถีทางที่จะให้ประ โยชน์นั้นเกิดแก่ทั้ง 2 ฝ่าย

MP20-3285-AB นายสู ปู้ เอกอัครราชทูตจีนประจำภาคพื้นอาเซียนให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้นเป็นเรื่องที่ดีสำหรับมาเลเซีย ไม่ว่าเม็ดเงินลงทุนนั้นจะมาจากจีนหรือจากประเทศอื่นๆ ก็ตาม นอกจากนี้ เขายังมองว่า ไม่ว่าใครจะขึ้นเป็นผู้นำของมาเลเซีย เขาคนนั้นก็จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,285 วันที่ 6 -9 สิงหาคม พ.ศ. 2560