สธ.ห่วงผู้ประสบภัยน้ำท่วมเป็นโรคน้ำกัดเท้า

05 ส.ค. 2560 | 10:17 น.
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พบผู้ประสบภัยน้ำท่วมเป็นโรคน้ำกัดเท้ามากขึ้น แนะก่อนเดินลุยน้ำให้สวมถุงพลาสติกหรือถุงดำหุ้มเท้า หลังขึ้นจากน้ำให้รีบล้างทำความสะอาดและฟอกสบู่ เช็ดให้แห้งสนิท ย้ำผู้ป่วยเบาหวานต้องระวังเป็นพิเศษเลี่ยงลุยน้ำ เสี่ยงเกิดแผลที่เท้าอาจทำให้ติดเชื้อรักษาหายยาก

[caption id="attachment_190515" align="aligncenter" width="503"] นายแพทย์โสภณ เมฆธน นายแพทย์โสภณ เมฆธน[/caption]

วันนี้(5 สิงหาคม 2560)นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า จากการติดตามสถานการณ์อุทกภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2560 พบสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 19 แห่ง จาก 7 จังหวัด ขณะนี้เปิดให้บริการได้ตามปกติแล้ว 18 แห่ง อีก 1 แห่ง คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)พอกน้อย อ.พรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ย้ายไปให้บริการที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน เนื่องจากระดับน้ำบริเวณรอบสูงประชาชนเข้ามารับบริการลำบาก แต่ตัวสถานบริการไม่ได้ความเสียหายแต่อย่างใด

ทั้งนี้จากการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม พบผู้ป่วยโรคน้ำกัดเท้ามากขึ้น ยิ่งท่วมขังนานก็จะพบโรคน้ำกัดเท้ามากขึ้นไปด้วย ซึ่งเกิดจากการที่เท้าแช่น้ำเป็นเวลานาน ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง เปื่อยและเป็นแผลได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรเลี่ยงการ ลุยน้ำ เนื่องจากมีโอกาสเกิดแผลและมักไม่รู้ตัวว่ามีบาดแผลที่เท้า ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย รักษาหายยาก

03-Aug-17-12-09-02-PM-768x405 ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนที่จะเดินลุยน้ำ สวมถุงดำหรือถุงพลาสติกหุ้มเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้า และสวมรองทับเพื่อป้องกันการถูกของมีคมบาดหรือทิ่มแทง หากจำเป็นต้องลุยน้ำและไม่มีถุงพลาสติก หลังจากขึ้นจากน้ำให้รีบล้างทำความสะอาดและฟอกสบู่แล้วเช็ดให้แห้งสนิท โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า หากรายใดมีบาดแผลลึก ขอให้ไปทำความสะอาดแผลที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านหรือที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทุกวัน และสังเกตอาการผิดปกติ หากบาดแผลอักเสบ บวมแดง มีหนอง หรือเนื้อที่ขอบแผลมีลักษณะซีด ขอให้พบแพทย์ทันที