“ประยุทธ์” ชี้! 10 จังหวัดยังเจอปัญหาน้ำท่วม

05 ส.ค. 2560 | 05:14 น.
วันที่ 4 ส.ค.60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า"จากสถานการณ์อุทกภัย เนื่องจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงตลอดสัปดาห์ ที่ผ่านมานะครับ ประกอบกับมีพายุโซนร้อน “ตาลัส” และ “เซินกา” ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า ค่าเฉลี่ยในฤดูฝนของแต่ละปี เกิดน้ำไหลหลากและท่วมขังในพื้นที่ 44 จังหวัด “ทั่วประเทศ”

ในช่วงที่ผ่านมา มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า3 แสน 7 หมื่นครัวเรือน หรือราว 1 ล้าน 2 แสนคน ปัจจุบัน สถานการณ์ได้คลี่คลายลงแล้ว 34 จังหวัด คงเหลือ10 จังหวัด ที่ยังประสบปัญหาอุทกภัยอยู่ในขณะนี้

ในการดังกล่าวนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “สภานายิกา” สภากาชาดไทย พร้อมทั้ง พระบรมวงศานุวงษ์ “ทุกพระองค์” ทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับผลกระทบทั้งในการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ

โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการ “เราทำความดีด้วยหัวใจ หน่วยพระราชทาน และประชาชนจิตอาสา” ทั้งนี้ก็เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนเป็นการด่วน ณ พื้นที่ประสบภัย โดยการประกอบอาหารกล่องแจกจ่ายให้กับประชาชน รวมทั้งพระราชทานน้ำดื่ม และสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้แทนพระองค์ จากสภากาชาด, มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก อัญเชิญชุดธารน้ำใจ, ถุงยังชีพ และสิ่งของพระราชทานมอบแก่ประชาชนผู้ประสบภัย อย่างต่อเนื่องนะครับ รวมทั้งพระราชทานอาหารสัตว์ ให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบอุทกภัยอีกด้วย ยังความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ และความปลื้มปิติแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยเป็นล้นพ้น ขอให้ทุกพระองค์ทรงพระเจริญ

นอกจากนี้ได้ทรงเน้นเรื่องการนำโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสู่การปฏิบัติให้สมบูรณ์ในทุกพื้นที่นะครับ การปลูกหญ้าแฝก การตรวจสอบอ่างเก็บน้ำ เขื่อนกั้นน้ำนะครับให้แข็งแรง ซ่อม เสริมสร้างให้รวดเร็วนะครับ หากปัญหาเกิดขึ้นพร้อมทั้ง ให้ประชาชนได้มีโอกาสร่วมกันดูแล ทางราชการก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์โดยเปิดเผยนะครับ ทุกเรื่องให้ชัดเจน อะไรทีทำได้ ทำไม่ได้ อะไรที่ทำไหว ไม่ไหวนะครับ

ทั้งนี้เพราะว่าทุกอย่างนั้น เป็นการก่อสร้างมาในอดีตที่ผ่านมา นะครับ บางสถานที่อาจใช้เวลายาวนานมาแล้วนะครับ วันนี้อาจจะไม่ทัน หรือแก้ปัญหาได้ไม่พอเพียงนะครับ เนื่องจากสถานการณ์มันมากเกินปกตินะครับ ก็ขอให้ทุกคนเข้าใจถึงปัญหา หากเป็นภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ หรือไม่ใช่สถานการณ์ปกติแล้ว บางอย่างเราก็แก้ไขด้วยการทำโครงการขนาดใหญ่ เช่นโครงการพระราชดำริต่างๆ ให้สมบูรณ์เกิดขึ้น ก็จะได้เกิดความยั่งยืนอีกด้วยนะครับ

ในการนี้ รัฐบาลได้อัญเชิญพระกระแสรับสั่งฯ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อครั้งเกิดอุทกภัยภาคใต้ ที่ผ่านมานะครับ นับเป็น “ศาสตร์พระราชา” ใส่เกล้าใส่กระหม่อม เพื่อเป็นแนวทางพระราชทาน สำหรับดำเนินการอย่างต่อเนื่องในครั้งนี้ด้วยนะครับ รวมทั้งสาธารณภัยอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต จะมีอยู่หลายเรื่องด้วยกันนะครับ

เรื่องที่ (1) ก็คือการกระจายความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง และทันกาล แม้ในพื้นที่เข้าถึงยากนะครับ ก็มีหลายหน่วยงานที่ต้องพยายามเข้าไปให้ถึงให้ได้

(2) ดำเนินการอย่างเป็นระบบ และมีการบูรณาการกัน ของทุกหน่วยงาน รวมทั้งภาคเอกชน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน ทั่วถึงนะครับ

และ (3) คือ “เตรียมพร้อม” ให้มีการเฝ้าติดตามสถานการณ์, มีระบบการแจ้งเตือนภัย “ล่วงหน้า” และมี “แผนเชิญเหตุ” ที่สมบูรณ์ในทุกสถานการณ์ รวมทั้งให้มี “แผนการฟื้นฟู” หลังวิกฤติการณ์นั้นๆ อีกด้วย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่พี่น้องประชาชน และเป็นกำลังใจในการทำงานของทุกหน่วยงาน ผมขอเล่าถึงการดำเนินการของภาครัฐที่ผ่านมา โดยสังเขป เราแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนนะครับ ก็คือ “ก่อน – ระหว่าง – หลัง” การเกิดอุทกภัย หรือภัยพิบัติต่างๆก็ตามนะครับดังนี้..

“ขั้นก่อน” ก็จะเป็นการติดตาม เฝ้าระวัง และสร้างการรับรู้ให้ประชาชน โดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีเทคโนโลยีและเครื่องมือมาตรวัด สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล, การประเมินสถานการณ์ และพยากรณ์ อันได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา, กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรน้ำ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) เป็นต้น

ในการดำเนินการร่วมกันประเมินจุดเสี่ยง และแจ้งเตือนภัย จากน้ำหลาก – ดินโคลนถล่ม – คลื่นลมทะเลรุนแรง เป็นต้น ผ่านช่องทางการสื่อสาร “ทุกรูปแบบ” ทั้งกลไกภาครัฐและผู้นำชุมชนไปจนถึงประชาชน “ทุกครัวเรือน”อย่างต่อเนื่อง เพื่อจะเตรียมการรับมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนส่วนบุคคล “เบื้องต้น” และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ ต่อไป รวมทั้ง Infographic โซเชียล มีเดียต่างๆ ของทุกหน่วยงาน ก็ผลิตขึ้นมานะครับ

เพื่อแนะนำการปฏิบัติของผู้ประสบภัย ให้ปลอดภัยและปลอดโรค เช่น การระวังไฟฟ้า – สัตว์เลื้อยคลาน, การดูแลยานพาหนะ หาที่จอดรถต่างๆ ที่ไหนได้บ้างนะครับ ในขั้นการเตรียมการ การขับถ่าย – การทิ้งขยะ –การรักษาสุขอนามัย – และการป้องกันโรคระบาดต่างๆ เป็นต้น ที่เป็นประโยชน์ ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ผมอยากให้พี่น้องประชาชนได้ติดตามนะครับ นำ “ความรู้” เหล่านั้น ไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอีกด้วยนะครับ ขอให้ประชาชนรับฟังข่าวสารจากทางราชการให้มาก การแจ้งของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อทุกคนจะได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า

สำหรับขั้นตอนที่ 2 คือ “ขั้นระหว่าง” ก็ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือ ซึ่งดำเนินการบนหลักการสำคัญ ก็คือ จะต้อง “ปฏิบัติโดยทันที ไม่ต้องรอสั่งการ” นะครับ เป็นอำนาจการตัดสินใจ ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมอบหมายไปแล้ว อาทิ การระดมทรัพยากร – เครื่องจักรกล, บุคลากร, การจัดกำลังเจ้าหน้าที่, การตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย, การอพยพประชาชนมายังพื้นที่ปลอดภัย, การจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว, การช่วยเหลือเพื่อการดำรงชีพ เช่น แจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ที่จำเป็น เพื่อบรรเทาทุกข์ ทั้งทางกายและจิตใจ เหล่านี้เป็นต้น

ทั้งนี้ ให้ทั้งหมดนั้นบรรจุอยู่ใน “แผนเผชิญเหตุ” ที่จะต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า แล้วปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงนะครับ ที่อาจจะมีการพัฒนาตลอดเวลา ซึ่งในครั้งนี้ผมเห็นว่า “สื่อโซเชียล” จะต้องมีบทบาทอย่างมากนะครับ ในการเผยแพร่ข่าวสารที่มีประโยชน์ต่อผู้ประสบภัย และการทำงานของเจ้าหน้าที่ ผมขอชื่นชมไว้ด้วยนะครับ ณ ที่นี้ แต่สำหรับ “บางข้อมูล” ที่มีการส่งต่อๆ กันไป ซึ่งอาจจะไม่อ้างอิงแหล่งที่มา หรือไม่มีความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล อันนี้ก็ขอให้เป็นบทเรียนนะครับ ในเหตุการณ์ในอนาคต ว่าควร “งดส่งต่อ” หรือ “ตรวจสอบความถูกต้อง” เสียก่อนเสมอ

เนื่องจากจะเป็นอุปสรรคในการทำงาน หรือซ้ำเติมสถานการณ์โดยไม่เจตนาได้ นะครับ อยากให้เสนอข่าวให้ประชาชนคลายความตื่นตระหนก แล้วก็ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหา เป็นกำลังใจเจ้าหน้าที่ ที่ต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ส่วนการเร่งระบายน้ำออกนอกพื้นที่น้ำท่วมนั้น ผมได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณา “แผนการใช้น้ำ” ในอนาคตด้วย

เช่น นับตั้งแต่วันนี้ อีก 3 เดือน ก็จะสิ้นสุดฤดูฝน ดังนั้นการระบายน้ำของ 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต้องเก็บกักน้ำไว้เพิ่มเติม ราว 5,600 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เพียงพอ สำหรับอุปโภคบริโภค ในภาคการผลิต และรักษาระบบนิเวศ ตามประมาณการความต้องการใช้น้ำ ในปีหน้านะครับ 2561 ก็คือ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วย ภูมิภาคอื่นๆ ก็เช่นกันนะครับ ไม่ใช่เห็นน้ำมากก็ผลัก ดันน้ำทิ้งจนหมด ระบายจนหมด ไม่คำนึงถึงการใช้น้ำในอนาคตนะครับ ต้องระมัดระวังไปอีกด้านหนึ่งด้วย ซึ่งต้องสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ “ในแต่ละพื้นที่” อีกด้วย

สุดท้าย คือ “ขั้นหลัง” ก็คือเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง ก็เป็นการปฏิบัติตาม “แผนฟื้นฟู” เพื่อให้พี่น้องประชาชน กลับมาใช้ชีวิตปกติสุข ให้ได้โดยเร็วที่สุด เช่น การสำรวจความเสียหาย, การซ่อมแซมบ้านเรือน ยานพาหนะ เครื่องมือประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมง ปศุสัตว์, การบูรณฟื้นฟูสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนน รางรถไฟ สนามบิน สะพาน ฝาย ทำนบ อ่างเก็บน้ำ ทางระบายน้ำ และสถานที่ราชการ เป็นต้น"