อพท.ปูพรม39กิจกรรม ใน6พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

04 ส.ค. 2560 | 04:50 น.
อพท. ต่อยอดวัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ปูพรม 39 กิจกรรมใน 6 พื้นที่พิเศษ หวังใช้การท่องเที่ยวช่วยสืบสานของดีและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพิ่มคุณค่าสร้างเป็นมูลค่ากระจายรายได้ลงสู่ชุมชน

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานประธานกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กพท.)  เปิดเผยว่า  อพท. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้แก่ชุมชนในพื้นที่พิเศษ  เนื่องจากมองเห็นว่าการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ที่เริ่มเข้าสู่กระแสนิยมและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว ซึ่งข้อดีของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์คือเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวและเจ้าของชุมชน หรือเจ้าของวัฒนธรรม ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกันทำกิจกรรมกับชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ความจริงแท้ของชุมชน (Authenticity) เป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เชิดชู “คุณค่า” ของวัฒนธรรม วิถีชีวิตขุมชน ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนที่ไม่สามารถหาได้จากชุมชนอื่น มีลักษณะความเป็นพิเศษของตนเองที่ชุมชนอื่นไม่เสมอเหมือน สร้างแรงจูงใจนักท่องเที่ยวอยากเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตที่จริงแท้ของชุมชน (Authenticity) และการท่องเที่ยวที่พัฒนาขึ้นจากจากอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของชุมชนนั้นจะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ในสภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว s_IMG_7208

ที่ผ่านมา อพท. ได้ทยอยพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ไปแล้วในหลายพื้นที่พิเศษ ได้แก่  พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร และพื้นที่พิเศษเลย เป้าหมาย 39 กิจกรรมใน 6 พื้นที่พิเศษ รวมทั้งการจัดทำสื่อสร้างความเข้าใจการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จากฐานองค์ความรู้การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่ได้มีการดำเนินการไปแล้ว และได้มีการขยายกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ครบทุกพื้นที่พิเศษของ อพท. สามารถเป็นต้นแบบของกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่นำไปสู่การขยายเครือข่ายกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในแต่ละพื้นที่พิเศษ และเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ระหว่างพื้นที่พิเศษของ อพท. เป็นการสร้างความโดดเด่นด้วยการเชิดชูคุณค่าทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่พิเศษด้วยการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เป็นการเปิดมุมมองใหม่ของชุมชนหรือเจ้าของวัฒนธรรม ตามแนวคิดหลักการทำงานของ อพท. คือ “เรียนรู้ ดูของจริง ลงมือทำ”

“โครงการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ เป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างจิตสำนึกให้กับคนในชุมชน นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ ร่วมกันรักษาสมดุลของระบบนิเวศของชุมชน ผ่านการสร้างกลุ่มให้มาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เมื่อเกิดการจัดการอย่างเป็นระบบและประสบความสำเร็จแล้ว แหล่งท่องเที่ยวชุมชนจะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของสังคม เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย และกลายเป็นพลังในการสร้างฐานความรู้สำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์ รวมทั้งก่อให้เกิดการอยู่ดีมีสุขของชุมชน และก่อให้เกิดการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน” s_IMG_7213

นิยามการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เป็นการท่องเที่ยวกิจกรรมที่เป็นวิถีชีวิตชุมชน (เช่น ภูมิปัญญา วัฒนธรรม วิถีชีวิต) โดยเน้นการท่องเที่ยวในเรื่อง “คุณค่า” ของวิถีชุมชน โดยมีคำหลัก 3 คำ ได้แก่ ความจริงแท้ (Authenticity) จิตวิญญาณพื้นที่ (Spirit of place) และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Participate) ดังนั้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ คือ การท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวได้มาร่วมเรียนรู้กิจกรรมที่เป็นวิถีชีวิตของพื้นที่นั้นอย่างแท้จริง โดยมีการนำเสนอด้วยกระบวนการที่สร้างสรรค์ เป็นการนำสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น วัฒนธรรม ภูมิปัญญา วิถีชีวิต ให้เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวจับต้องได้ และเป็นกิจกรรมที่มีอยู่ในพื้นที่นั้นจริง ไม่ได้มีการนำกิจกรรมมาจากพื้นที่ภายนอก และเป็นการร่วมทำกิจกรรมระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชน เกิดประสบการณ์ใหม่ สามารถนำไปสร้างสรรค์เป็นผลงานอื่นๆ s_IMG_7054

สำหรับพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน อพท. ได้พัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์รวม 6 กิจกรรม ได้แก่ เรียนรู้การทำโคมไฟ, บ้านม่วงตึ๊ด ต.ภูเพียง อ.ภูเพียง  เรียนรู้การแกะสลักพระไม้, วัดมหาโพธิ์ ต.เวียงเหนือ อ.เมืองน่าน  เรียนรู้การทำตุงค่าคิง, ชุมชนวัดพระเกิด ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน  เรียนรู้การปักผ้าหน้าหมอน, โฮงเจ้าฟองคำ ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน  เรียนรู้การทำผ้าห่มตาโก้ง, บ้านนาซาว ต.นาซาว อ.เมืองน่าน และเรียนรู้การจักสาน, บ้านต้าม ต.บ่อสวก อ.เมืองน่าน ซึ่งกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่ อพท. พัฒนาขึ้นมาจากอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของชุมชนนั้น ประโยชน์ทางตรงคือชุมชนเกิดการฟื้นฟูภูมิปัญหาและศิลปวัฒนธรรมให้เกิดการสืบทอด คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าซึ่งจะนำมาซึ่งมูลค่า ประโยชน์ทางอ้อมคือชุมชนจะมีรายได้เพิ่มจากการี่นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเที่ยวและลงมือทำกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์  และยังได้ประโยชน์ในมิติทางสังคม คือการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักท่องเที่ยวและชุมชน เพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว

s_IMG_7058

อย่างไรก็ตาม อพท. มีความมั่นใจว่าประโยชน์ของกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จะสามารถเป็นเครื่องมือให้ชุมชนได้มีโอกาสในการใช้สิทธิ์ความเป็นเจ้าของพื้นที่ เพื่อกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวด้วยตนเอง กำหนดและจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว และที่สำคัญสร้างสรรค์กิจกรรมการท่องเที่ยว (Innovative Tourism) ด้วยตนเอง และจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่เป็นธรรมมากขึ้น พร้อมกับสร้างความเข้าใจให้กับนักท่องเที่ยวและชุมชนได้ร่วมกันจัดการการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อชุมชน (Social Responsible Tourism)