กทท.เตรียมแผนยกระดับประสิทธิภาพบริการของท่าเรือรับการส่งออกพุ่ง

03 ส.ค. 2560 | 04:14 น.
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมรับฟังความเห็นจากเอกชนต่อทิศทางการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และท่าเรือกรุงเทพเพิ่มขึ้น หวังรองรับการขยายตัวทั้งของกทท.และส่งออก

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุม เรื่องการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และท่าเรือกรุงเทพ โดยมี นายเจริญรัฐ ฉิมสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุพจน์ มัฆวิบูลย์ ผู้ช่วยเลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม เรือตรี ทรงธรรม จันทประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายวิศวกรรม รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย และนายสมบัติ เปรมประภา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

ktt1

โดยที่ประชุมได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ในฐานะตัวแทนผู้ส่งออกไทยที่ใช้บริการนำเข้า - ส่งออกผ่านท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาประสิทธิภาพของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และ ทกท. เช่น การเร่งรัดการดำเนินโครงการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการให้บริการของ ทกท. และโครงการ Port Community System (PCS) ทั้งนี้ กทท. ได้รายงานแผนการปรับปรุงและพัฒนา ทกท. ให้ที่ประชุมได้รับทราบ ได้แก่ 1. โครงการปรับปรุงพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (20G) เพื่อรองรับปริมาณตู้สินค้าและเรือชายฝั่งที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น 2. โครงการพัฒนาคลังสินค้าเพื่อการส่งออก (CFS Export) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการด้านการบรรจุตู้สินค้าขาออกของ ทกท. ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ถูกต้อง ตามมาตรฐานสากล

ktt2

3. โครงการพัฒนาคลังสินค้าขาเข้า ทกท. (CFS Import) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการด้านการรับมอบ เก็บรักษา และส่งมอบสินค้าขาเข้า ซึ่งโครงการ CFS Export และ CFS Import จะช่วยลดปัญหาการจราจรใน ทกท. รองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้าและตู้สินค้าขาเข้าในอนาคต และเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ ทกท. มีพื้นที่ว่างสำหรับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประมาณ 281.32 ไร่ และ 4. โครงการศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จของ ทกท. (One Stop Service) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ โดยรวบรวมธุรกรรมต่าง ๆ อาทิ การเงิน ศุลกากร พิธีการ เอกสาร และการติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น

อีกทั้ง โครงการพัฒนา Port Community System (PCS) ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับ กทท. ที่ให้บริการขนถ่ายสินค้า เป็นศูนย์กลางในการบริหารงานทั้งหมด สามารถเชื่อมโยงข้อมูลการขนส่งเข้าด้วยกัน ทั้งท่าเรือทั้งหมดของ กทท. และหน่วยงานภายนอก เพื่อบูรณาการบริการทุกภาคส่วนของ กทท.