กบง.ยืนยันเดินหน้านโยบายเปิดเสรีแอลพีจี

02 ส.ค. 2560 | 12:40 น.
กบง. ยืนยันเดินหน้านโยบายเปิดเสรีก๊าซ LPG มอบ สนพ. ประกาศโครงสร้างราคาขายปลีกก๊าซ LPG อ้างอิงสำหรับเดือนสิงหาคม 2560 เท่าเดิม ย้ำจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กบง.) ได้พิจารณาโครงสร้างราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจี อ้างอิงสำหรับเดือนสิงหาคม 2560 โดยจากสถานการณ์ราคาก๊าซแอลพีจีตลาดโลก (CP) เดือนสิงหาคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 85 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน มาอยู่ที่ระดับ 440 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนกรกฎาคม 2560 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.2509 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 33.9146 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซแอลพีจี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.6352 บาท/กก. จาก 13.6229 บาท/กก. เป็น 16.2581 บาท/กก.

news120754-1


ดังนั้น เพื่อไม่ให้การผันผวนของราคาก๊าซแอลพีจีในตลาดโลก และแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจแอลพีจี สามารถดำเนินต่อเนื่องโดยไม่ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกแอลพีจี ในประเทศ ประกอบกับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของแอลพีจี ยังคงมีเสถียรภาพ ที่ประชุม กบง. จึงเห็นควรให้ใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพราคา เพื่อส่งสัญญาณให้ราคาขายปลีกแอลพีจี คงที่ อยู่ที่ 20.49 บาท/กก. โดยให้ปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ 2.6352 บาท/กก. จากเดิมที่กองทุนน้ำมันฯ ชดเชยที่ 0.1207 บาท/กก. เป็นชดเชย 2.7559 บาท/กก. ซึ่งผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายจ่ายสุทธิอยู่ที่ 511 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2560 อยู่ที่ 39,403 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีในส่วนของแอลพีจี อยู่ที่ 6,367 ล้านบาท และบัญชีในส่วนของน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 33,036 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. ยังได้เห็นชอบปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารายภูมิภาคตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm จากเป้าหมายการรับซื้อ 300 เมกะวัตต์ สรุปดังนี้ ภาคกลาง เป้าหมาย 20 เมกะวัตต์ ,กรุงเทพฯ และปริมณฑล 15 เมกะวัตต์,ภาคตะวันออก 20 เมกะวัตต์ ,ภาคใต้ 100 เมกะวัตต์ ,ภาคตะวันตก 20 เมกะวัตต์ ,ภาคเหนือ 65 เมกะวัตต์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 60 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ หากปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าฯ ในภูมิภาคใดไม่ครบตามเป้า ให้ กกพ. สามารถนำส่วนที่เหลือไปเปิดรับซื้อในภูมิภาคอื่นได้ โดยให้คำนึงถึงราคารับซื้อไฟฟ้าที่ต่ำที่สุดและศักยภาพของสายส่ง (Grid Capacity) ที่รองรับได้เป็นสำคัญ และสำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าฯ โครงการ SPP Hybrid Firm ในครั้งนี้ จะยกเว้นการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน แต่ให้สามารถใช้เชื้อเพลิง RDF เป็นเชื้อเพลิงร่วมได้

aHR0cDovL3AxLmlzYW5vb2suY29tL21uLzAvdWQvODgvNDQzMjgxLzc0NzQ1NS0wMS5qcGc=


พร้อมกันนี้ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับระยะเวลาในการดำเนินงานจริง เนื่องจากโครงการ SPP Hybrid Firm เข้าข่ายที่จะต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ที่ประชุม กบง. จึงได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลากำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ของโครงการ SPP Hybrid Firm จากเดิมภายในปี 2563 เป็นภายในปี 2564 ทั้งนี้ ให้ใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ FiT ตามที่ กพช. ได้เห็นชอบไว้ (17 ก.พ. 2560) โดยมอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการเปิดรับซื้อไฟฟ้าฯ ตามขั้นตอนต่อไป

ที่ประชุม กบง. รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 โดยพบว่า สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ค่อนข้างใกล้เคียงกับแผน โดยในส่วนของก๊าซธรรมชาติลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 61 ส่วนพลังงานหมุนเวียน อยู่ที่ร้อยละ 8 ซึ่งต่ำกว่าแผนเล็กน้อย ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามเป้า ส่งผลทำให้การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน มีสัดส่วนสูงกว่าแผน และสำหรับปริมาณการผลิตไฟฟ้าจริงในระบบของ 3 การไฟฟ้า อยู่ที่ 81,867 GWh ซึ่งต่ำกว่าแผนประมาณร้อยละ 5 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่มีฝนมากกว่าปกติ ทำให้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวไม่สูงมากนัก รวมทั้งมีสัญญาณที่ประชาชนเริ่มผลิตไฟเองใช้เองมากขึ้น

รวมทั้งรับทราบการได้รับมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2560 ในวันนี้ (2 สิงหาคม 2560) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย มีกองทุนทั้งหมด 117 กองทุน โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ติด 1 ใน 16 กองทุนที่ได้รับรางวัลในปีนี้  ประเภท รางวัลการพัฒนาดีเด่น เนื่องจากกองทุนน้ำมันฯ มีการดำเนินงานตามเป้าหมายเหนือกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผลปฏิบัติการ (เบิกจ่าย) ยอดเยี่ยม มีการพัฒนาด้านการสื่อสาร มีภาพลักษณ์ที่ดี เช่น การรายงานโครงสร้างราคาน้ำมัน และการโต้ตอบชี้แจงความเข้าใจผิดต่างๆ การพัฒนาคณะกรรมการของกองทุนน้ำมันฯ (คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง.) เช่น การจัดทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสถานการณ์น้ำมัน (ทีม Prism) รายงานสถานการณ์ตลาดน้ำมันในการประชุม กบง. ทุกครั้ง และการริเริ่มให้มีการประชุม กบง. นอกสถานที่ (ณ สถานที่ที่มีการจัดเก็บกองทุนฯ เช่น บริเวณคลังก๊าซแอลพีจีเขาบ่อยา) รวมทั้งยังมีการพัฒนากฎหมายใหม่ (ร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง) ให้มีความชัดเจนมากขึ้น

 

***************************