ชาวสวนปาล์มโอดหลังสธ.เสนอแบนพาราควอตหวั่นต้นทุนพุ่ง

02 ส.ค. 2560 | 11:41 น.
ชาวสวนปาล์มโอดหลังสธ.เสนอแบนพาราควอต หวั่นต้นทุนพุ่งสวนทางนโยบาย”ฉัตรชัย”ครวญภาครัฐไม่เข้าใจไม่เคยทำสวน

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผย ภายหลังการสัมมนาวิชาการ เรื่อง”บทบาทของสารพาราควอตกับเศรษฐกิจในภาคใต้”ในจังหวัด กระบี่ ,จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดชุมพร ระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2560 จัดโดยสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร ว่า การเดินสายสัมมนาครั้งนี้ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของเกษตรกรและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ที่เสนอให้ยกเลิกสารเคมี 2 ตัว คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส โดยไม่ให้ยื่นขอขึ้นทะเบียนและห้ามนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 และเลิกใช้สิ้นเชิง 1 ธันวาคม .2562 ว่าจะส่งผลกระทบการทำการเกษตร กระทบต่อต้นทุนมากน้อยเพียงใด เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอต่อศูนย์ดำรงชัยธรรมต่อไป

ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมสัมมนาใน 3 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย ชาวสวนปาล์มน้ำมันในจังหวัดกระบี่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร ครอบคลุมพื้นที่การปลูกปาล์ม 1.92 ล้านไร่ หรือประมาณ 47.8% ของพื้นที่ปลูกปาล์มทั่วประเทศ จำนวน 4.02 ล้านไร่ ต่างกังวลว่า หากยกเลิกสารเคมี 2 ตัวนี้ โดยเฉพาะ สารพาราควอต อาจกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกร ซึ่งสวนทางกับนโยบาย ของพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการใช้เกษตรกรลดต้นทุน ในการทำการเกษตร และแนะนำให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบปลอดภัย ให้สารสารเคมีได้ในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งสารพาราควอต เกษตรกร เข้าใจและคุ้นชิน รู้ว่าจะใช้อย่างไรในปริมาณเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม

palm1

ด้านนายสัญญา ปานสวี นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน จังหวัดชุมพร กล่าวว่า การทำสวนปาล์มของไทยส่วนใหญ่ 85% เป็นเกษตรกรรายย่อย มีข้อจำกัดของพื้นที่สวนปาล์มที่มีขนาดเล็กการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าไปทำงานจึงไม่สะดวก เท่ากับการใช้แรงงานคนในการดูแล กำจัดวัชพืช หรือ กำจัดหญ้า หากจะไม่ให้ใช้ยาฆ่าหญ้าเพื่อฉีดพ่นคงทำสวนได้กันวันละไม่กี่ไร่ การออกกฏระเบียบ หรือ จะสั่งห้ามเกษตรกรในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการทำสวน ภาครัฐ หรือ องค์กรต่อต้านการใช้สารเคมี ควรลงพื้นที่ ว่าชาวสวนทำงานกันอย่างไร หากห้ามใช้ยาฆ่าหญ้า ชาวสวนจะทำสวนอย่างไรให้ได้ผลผลิต ครอบคลุมพื้นที่ของตนเองในเวลาที่จำกัด

ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนปาล์มของไทยมีการปลูกปาล์มน้ำมัน ภายใต้มาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ( RSPO : Roundtable on Sustainable Palm Oil) เพื่อรับรองแหล่งผลิตน้ำมันปาล์มที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ได้รับการตรวจรับรองมาตรฐานจากผู้รับรองระบบ (CB)ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเกษตรกรรายย่อยของไทยที่ได้รับรองมาตรฐาน RSPO แล้วนั้น ยังใช้สารพาราควอต ภายใต้การอบรมวิธีการใช้อย่างปลอดภัย ซึ่งทางผู้ตรวจรับรองมาตรฐานไม่ได้ติดใจ หรือ นำมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาให้มาตรฐานในระดับสากลแต่อย่างใด

ดังนั้นจึงยืนยันว่า การใช้พาราควอตเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจาก เป็นเคมีเผาไหม้ วัชพืชใบใหม้ ทันทีไม่ต้องรอ 3-4 วันเหมือนยาฆ่าหญ้าชนิดอื่น ต้องทำความเข้าใจในวงกว้างว่าเกษตรกรทุกคนรักชีวิตตนเอง ไม่มีใครเลือกใช้อะไรแบบผิดวิธี ส่งผลกระทบให้เป็นอันตรายกับตนและคนในสวน การใช้พาราควอตเป็นสารที่ได้ผล ต้นทุนต่ำ ควบคุมได้ คนที่เป็นเกษตรกรจะเข้าใจสถานการณ์ในการประกอบอาชีพเกษตรกร

“สาธารณสุขเสนอให้เลิกใช้สารพาราควอต ที่เกษตรกรรู้จักและใช้มานาน ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำประมาณ 44 บาท/ไร่ หรือ ราคา ประมาณ 105-170 บาท/ลิตร โดยที่ยังไม่มีสารทดแทนที่เหมาะสม หรือ มีสารที่มีคุณสมบัติฆ่าหญ้าใกล้เคียงกับพาราควอต แต่ต้นทุนสูงกว่า 6-7 เท่า/ไร่ หรือราคาประมาณ 420-550 บาท/ลิตร ถือว่า ภาครัฐและองค์กรที่ให้เลิกใช้สารเคมีที่เกษตรกรใช้มานานจนรู้ถึงอันตราย และ วิธีใช้อย่างปลอดภัยแล้วนั้น ถือว่าไม่เข้าใจเกษตรกรอย่างแท้จริง” นายสัญญา กล่าว

palm2

ด้าน ศ.ดร.รังสิต สุวรรณมรรคคา อดีตผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในฐานะนักวิชาการด้านพาราควอต ว่า การกำจัดวัชพืชได้ถูกนำมาใช้ เพื่อการป้องกันกำจัดวัชพืชในพื้นที่เกษตรกรรมและกิจการอื่นๆ ทั่วโลก เป็นเวลานานกว่า 50 ปีแล้ว เนื่องจากการใช้สารกำจัดวัชพืชอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะเกิดประสิทธิภาพดีกว่าการกำจัดวัชพืชด้วยวิธีอื่นๆ รวมทั้งสามารถทดแทนแรงงาน ที่ขาดแคลนมากขึ้นทุกปี

ปัจจุบันปริมาณการนำเข้าสารป้องกันกำจัดวัชพืช มีมากกว่า 50% ของปริมาณสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่นำเข้ามาในประเทศไทย พาราควอตเป็นสารที่หมดฤทธิ์ในตัวเองเมื่อสัมผัสดิน พาราควอตละลายดีในน้ำสะอาด แต่จะไม่ละลายในน้ำขุ่น นั่นหมายถึงเมื่อสัมผัสดินจะถูกดินจับไว้และจะหมดฤทธิ์ทันที ดังนั้นข้อกล่าวหาที่ว่าสารพาราควอตจะถูกดูดซึมลงในดินและจะไหลลงสู่แหล่งน้ำนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

แหล่งข่าวจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพและอาชีวอนามัย กล่าวว่า สารเคมีใดๆ ก็ตามมีพิษในตัว แต่จะเกิดอันตรายต่อเมื่อนำไปใช้ผิดวิธี ต้องแยกแยะให้ออกว่าคำว่า พิษ คำว่า เสี่ยง กับคำว่า อันตราย นั้น แต่ละปัจจัยเกิดขึ้นจากอะไร หากเกษตรกรใช้เคมีอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของผู้ผลิต สารเคมีเหล่านั้นก็จะไม่ทำให้เกิดอันตราย ส่วนสารพาราควอต ที่ สธ.เสนอให้เลิกใช้นั้น เป็นสารที่ไม่ละลายในไขมัน ดังนั้นจะไม่ดูดซึมผ่านชั้นผิวหนัง จึงแสดงว่าข้อมูลที่ถูกกล่าวอ้างว่าดูดซึมเข้าไปในร่างกายทำให้ถึงแก่ชีวิตนั้นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการใช้พาราควอตของเกษตรกร ก็ต้องใช้อย่างถูกวิธี

“การใช้สารพาราควอต คิดว่าเกษตรกรน่าจะเข้าใจและรู้เท่าทัน เพราะใช้มานานกว่า 50 ปี หากเป็นแผลก็ต้องจัดการดูแลแผลให้ดีปกป้องแผลไม่ให้มีเชื้อโรค หรือสิ่งที่อาจจะมีความเสี่ยงผ่านเข้าสู่ร่างกายทางแผลได้ ซึ่งเป็นหลักการเบื้องต้นของการดูแลสุขภาพทั่วไปอยู่แล้ว”