KKP บุกรายย่อยเต็มสูบ เน้นสินเชื่อบ้าน-ส่วนบุคคล ตั้งเป้าพอร์ต2หมื่นล.

05 ส.ค. 2560 | 02:24 น.
แบงก์เกียรตินาคินภัทร เร่งเครื่องขยายสินเชื่อส่วนบุคคล-บ้านเต็มสูบชูกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าผ่านเอเยนต์กว่า 600 คนเล็งกลุ่มมนุษย์เงินเดือน-จับมือบ้านโครง การกรองคุณภาพ ตั้งเป้าสิ้นปีพอร์ตแตะ 2 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท ฟากหนี้เสียกดไม่เกิน 2%

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สินเชื่อรายย่อย หรือ Consumer Loan ยังเป็นสินเชื่อที่ธนาคารให้ความสำคัญและตั้งเป้าหมายการเติบโตในช่วงที่เหลือของปีนี้

ในช่วง 6 เดือนแรก ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเฉลี่ย 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคล เฉลี่ยเดือนละ 400 ล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปียอดสินเชื่อคงค้างทั้งในส่วนของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อส่วนบุคคลจะใกล้เคียงกันจบอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ยอดสินเชื่อคงค้างรายย่อยภาพรวมอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท

[caption id="attachment_188793" align="aligncenter" width="410"] อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)[/caption]

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจรายย่อยในช่วงครึ่งปีหลัง ในส่วนสินเชื่อส่วนบุคคล กลยุทธ์จะมุ่งเน้นการขายต่อยอดผลิตภัณฑ์ ผ่านฐานลูกค้าเดิมของธนาคารที่มีอยู่ ซึ่งฐานลูกค้ายังคงเน้นลูกค้ามนุษย์เงินเดือนที่มีสัดส่วนมากกว่า 70% และผู้ประกอบการและเจ้าของกิจการอีก 30% โดยส่วนใหญ่รายได้เกินเฉลี่ย 3 หมื่นบาทต่อเดือน จึงไม่มีผลกระทบการหาลูกค้าใหม่จากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อไม่มีหลักประกันของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กันยายนนี้

ทั้งนี้ช่องทางการหาฐานลูกค้าจะทำผ่าน 2-3 ช่องทางหลัก คือ ผ่านตัวแทน Agent ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 600 คน คาดว่าสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 1,000 คน โดยผ่านสาขาธนาคาร เทเลเซล บูธ และเจ้าหน้าที่ติดต่อลูกค้าโดยตรง รวมถึงช่องทางออนไลน์ ที่เริ่มเห็นลูกค้าเข้ามาทิ้งข้อมูลไว้มากขึ้น คาดว่าหากทางการอนุมัติเรื่องยืนยันการพิสูจน์ตัวตน (E-KYC) จะช่วยให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อผ่านออนไลน์ จะช่วยต่อยอดการเติบโตสินเชื่อรายย่อยได้

ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารจะมุ่งเน้นสร้างความร่วมมือกับโครงการที่มีแบรนด์เป็นที่รู้จัก ซึ่งอาจจะเป็นฐานลูกค้าผู้ประกอบการของธนาคาร หรือขยายความร่วมมือใหม่ เนื่องจากจะช่วยคัดกรองกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพให้ธนาคารได้ส่วนหนึ่ง

ขณะเดียวกันจะขยายฐานลูกค้าผ่านสาขาธนาคาร ผ่านกลุ่ม Post-Finance และไดเร็กต์เซล แม้ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารเพิ่งเริ่มทำ แต่เชื่อว่าด้วยช่องทางที่มีอยู่จะสามารถขยายฐานลูกค้าได้ และแนวโน้มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยยังคงมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง โดยกลุ่มระดับกลางและระดับบนยังขยายตัวได้ดี ประกอบกับสัญญาณการเก็งกำไรเริ่มมีน้อยลง จึงมีโอกาสการเติบโตของสินเชื่อประเภทนี้ได้อีกมาก

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะเห็นว่าสินเชื่อรายย่อย เป็นสินเชื่อที่ธนาคารเพิ่งเริ่มต้นทำได้ไม่นาน ดังนั้นภาพธุรกิจยังคงไม่สะท้อนภาวะหนี้เอ็นพีแอลในทันที อาจจะเห็นภาพชัดเจนหลังจากทำธุรกิจครบในช่วง 2 ปี

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระดับเอ็นพีแอลสินเชื่อรายย่อยยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ที่กว่า 2% และคาดว่าภายในสิ้นปีจะพยายามรักษาให้อยู่ในระดับดังกล่าว จากเอ็นพีแอลภาพรวมทั้งธนาคารอยู่ที่ 5.8% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสแรกอยู่ที่ 5.6% โดยทั้งปีตั้งเป้าควบคุมให้อยู่ในระดับ 5.2%

“เป้าหมายสินเชื่อภาพรวมคงไม่ตํ่ากว่า 5% ในช่วง 6 เดือนแรกขยายตัวได้ค่อนข้างดีอยู่ที่ 4.1% ซึ่งไส้ในมีทั้งตัวที่ขยายได้ดีและขยายไม่ได้ดี โดยสินเชื่อรายย่อยเติบโตได้ดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล เติบโตกว่า 19% สินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ธนาคารเพิ่งเริ่มทำมีอัตราการเติบโตกว่า 90% หรือแม้แต่สินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กเติบโต 50% โดยภาพรวมครึ่งปีหลังเรายังคงให้ความสำคัญกับสินเชื่อรายย่อยอยู่ โดยการขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางที่มีอยู่ โดยทั้งปีคาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างรายย่อยจะเพิ่มเป็น 2 หมื่นล้านบาท จากตอนนี้อยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท”

สำหรับแผนสาขาในปีนี้ ธนาคารจะยังคงรักษาสาขาอยู่ที่ 66 แห่งเท่าเดิม โดยจะไม่ได้มีการเปิดหรือปิดสาขา แต่จะคงไว้อยู่เท่านี้ เนื่องจากเป็นระดับที่เหมาะสมกับธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่รวดเร็ว เพราะจะเห็นว่าฐานลูกค้าส่วนใหญ่ประมาณ 80% จะใช้บริการผ่านเทเลคอล หรือกรณีถ้าเป็นกลุ่มฐานลูกค้าของภัทรจะใช้บริการผ่านเทเลคอลทั้ง 100% ทำให้สาขาที่มีอยู่จะให้บริการลูกค้าที่ยังคงต้องการทำรายการที่ยังใช้สาขา เช่น ฝากเงิน เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,284 วันที่ 3 -5 สิงหาคม พ.ศ. 2560