ค้าปลีกแผ่วครึ่งแรกโตตํ่าเป้า

05 ส.ค. 2560 | 08:52 น.
สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผยภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีแรกโตแค่ 2.81% เหตุไตรมาส 2 ยอดขายไม่กระเตื้อง ผู้บริโภคติดกับดักหนี้ครัวเรือน ยอดใช้จ่ายภาครัฐแผ่ว

นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า รู้สึกเป็นกังวลต่อสถานการณ์ค้าปลีกในครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะเรื่องของกำลังซื้อของผู้บริโภคในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางส่วนล่างและกลุ่มรายได้น้อยที่ยังมีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน ขณะที่กลุ่มรายได้ปานกลางตอนบน การใช้จ่ายจะยังไม่คล่องตัว ด้วยหนี้บัตรเครดิตที่สูงเช่นกัน ดังนั้นสมาคมคาดว่าอุตสาหกรรมภาคค้าปลีก น่าจะยังทรงตัวในไตรมาส 3 และดีดตัวขึ้นไปในไตรมาส 4 ตามวัฏจักรของการจับจ่าย แม้ภาครัฐจะเร่งให้มีการประมูลโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ภายในปีนี้ แต่ผลจากการลงทุนจะส่งผลมายังภาคค้าปลีกก็ต้องใช้เวลา 6-8 เดือน จึงยังไม่มีผลต่อการเติบโตของภาคอุตสาหรรมค้าปลีกในครึ่งปีหลังแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังคาดว่าการเติบโตในลักษณะกระจุกตัวน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และผลักดันให้ดัชนีค้าปลีกโดยรวมของปีนี้เติบโตราว 3.0-3.2% สูงกว่าในปี 2559 และครึ่งแรกของปีที่มีการเติบโตเพียง 2.81% ซึ่งตํ่ากว่าที่คาดหมาย เนื่องจากยอดค้าปลีกในไตรมาส 2 ที่แผ่วตัวลง ขณะที่ไตรมาส 1 มีการเติบโต 3.02%

[caption id="attachment_188596" align="aligncenter" width="503"] จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย[/caption]

“ปกติในไตรมาส 2 จะเติบโตกว่าไตรมาสแรก แต่พบว่าการเติบโตของหมวดสินค้าต่างๆกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองหลักๆของการท่องเที่ยว 2-3 จังหวัด ซึ่งสาขาเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 30% ของสาขาทั้งหมด ส่วนสาขาในต่างจังหวัดซึ่งมีสัดส่วนราว 70% มีการเติบโตที่อ่อนตัวลง จึงส่งผลกระทบทำให้ดัชนีค้าปลีกในครึ่งปีแรกเติบโตเพียง 2.81%”

ทั้งนี้พบว่าสินค้าในหมวดสินค้าคงทน ทั้งกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้างยังคงผันผวน ขณะที่หมวดสินค้ากึ่งคงทน มีการเติบโตทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา แม้ว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ทำให้การจับจ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนเพิ่มขึ้นไปด้วย ปัจจัยหลักที่ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ คือ อัตราภาษีสินค้านำเข้าแบรนด์หรูยังอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้กลุ่มสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง เติบโตตํ่ากว่าเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ยังได้อานิสงส์จากกลุ่มเครื่องกีฬาและสุขภาพซึ่งเติบโตตามเทรนด์ค่อนข้างมากมาช่วยพยุง

ขณะที่หมวดสินค้าไม่คงทนหรือหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน เริ่มส่งสัญญาณบวกในการฟื้นตัวช้าๆ อย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการผลักดันการใช้งบประมาณภาครัฐลงสู่ภูมิภาคและกลุ่มจังหวัดมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เม็ดเงินงบประมาณเริ่มไหลลงสู่ประชาชนฐานรากของประเทศอย่างชัดเจนขึ้น แต่เมื่อไตรมาส 2 ดัชนีการบริโภคแผ่วตัวลง จึงส่งผลต่อการจับจ่ายรวมทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทำให้ดัชนีการเติบโตของหมวดสินค้าไม่คงทนยังคงพยุงตัวไว้ได้ที่ 3.05%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,284 วันที่ 3 -5 สิงหาคม พ.ศ. 2560