เมืองอัจฉริยะ เมืองต้นแบบเพื่อชีวิตที่ดี

05 ส.ค. 2560 | 11:10 น.
ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกจาก ?20% เป็น 25% ในปี 2573 การสนับสนุนโครงการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities - Clean Energy) เพื่อเป็นแนวทางหรือแบบรายละเอียดเบื้องต้น (Schematic Design) การพัฒนาเมืองของชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะ โดยเชื่อมโยงกับการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น Clean Energy และ Green City เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรของเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุดจึงเกิดขึ้น โดยกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และมูลนิธิอาคารเขียวไทย ได้ร่วมกันจัดโครงการดังกล่าวขึ้น

MP30-3284-B “ทวารัฐ สูตะบุตร” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า 7 โครงการที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการฯ แล้ว คือ โครงการนิด้า : มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ รู้รักษ์พลังงาน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน, มช. (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาด, เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ, ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต : ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ, วิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน, ขอนแก่น Smart City (ระยะ?ที่ 1) : ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง และโครงการเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง แต่ละโครงการได้รับการสนับสนุนรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อจัดทำโมเดลธุรกิจ สำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ครอบคลุมการจัดทำแบบประเมินค่าใช้จ่ายต่างๆ วิเคราะห์ความเหมาะสมด้านวิศวกรรมและการลงทุน

MP30-3284-C สถาบันอาคารเขียวไทยได้กำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือก เริ่มจากขนาดของโครงการเมืองอัจฉริยะ ต้องเป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 3 หมื่นคน หรือมีความต้องการไฟฟ้ามากกว่า 15 เมกะวัตต์ หรือมีพื้นที่อาคารมากกว่า 1 ล้านตารางเมตร หรือมีศักยภาพในการลดการปลดปล่อยคาร์บอนมากกว่า 3 หมื่นตัน และยังมีเกณฑ์ประเมินเมืองอัจฉริยะอีก 7 หมวด ได้แก่ 1.พลังงานอัจฉริยะ (smart energy) 2. การสัญจรอัจฉริยะ (smart mobility) 3. ชุมชนอัจฉริยะ (smart community) 4. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (smart environment) 5. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (smart economy) 6. อาคารอัจฉริยะ (smart building) และ 7. การปกครองอัจฉริยะ (smart governance)

MP30-3284-D ในแต่ละโครงการมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีจุดเด่นที่ การปรับปรุงผังแม่บทมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พ.ศ. 2577 มุ่งเน้นการปรับโครงหลักของผังให้เหมาะสม ได้แก่ การแบ่งส่วนพื้นที่ การสัญจร พื้นที่เปิดโล่งสีเขียว แกนเอกลักษณ์ จุดรวมกิจกรรม และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อสร้างความเป็น “เมืองธรรมศาสตร์” ที่เชื่อมโยงกันด้วย 3 องค์ประกอบ สําคัญ คือ ศูนย์ธรรมศาสตร์บริการ ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัย และสวนธรรมศาสตร์สาธารณะ

MP30-3284-E โครงการเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ เป็นพื้นที่เขตพาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณสวนหลวง- สามย่าน พื้นที่ 291 ไร่ เน้นการจัดการพลังงาน การสัญจร ชุมชน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ อาคาร รวมทั้งการบริหารจัดการเมือง และการสร้าง นวัตกรรมเมือง และจะใช้พื้นที่นี้ ในการชี้นำและสร้างแรงบันดาล ใจให้กับคนในสังคม โดยเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง ที่เน้นกําไรจากการสร้างนวัตกรรมทางสังคม มากกว่าการสร้างรายได้ทางธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว

หรือ โครงการวิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน ที่เน้นพื้นที่สีเขียวในโครงการทั้งหมด 30% ของที่ดินทั้งหมด ในรูปแบบ multi-level garden park โดยมุ่งหวังจะคืนพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน รวมไปถึงระบบนิเวศของสัตว์เล็ก สัตว์น้อย เช่น นก ผีเสื้อ กระรอก ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในโครงการ

MP30-3284-F โครงการเมืองอัจฉริยะ ขั้นตอนที่ 3 จะเป็นการจัดทำโมเดลธุรกิจ (Business Model) ผู้ที่ได้รับเงิน สนับสนุนจากกองทุน ในขั้นตอนที่ 2 จะต้องดำเนินการจัดทำแบบรายละเอียดเบื้องต้น (Schematic design) ประเมินค่าก่อสร้างเบื้องต้น (Construction budget estimation) วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายตลอดอายุโครงการ (Life cycle cost analysis) รายงานการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์(Financial feasibility study) เพื่อให้สามารถนำไปใช้เป็นโมเดลธุรกิจ (Business Model) และนำไปสู่การจัดหาผู้ร่วมทุนและการพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “Smart City” ต่อไป ข้อเสนอแนวคิดที่ดีที่สุดจะได้รับการยกย่องและเผยแพร่ในความเป็นต้นแบบเพื่อการพัฒนาสู่ “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “Smart City” ตามแบบที่พัฒนาขึ้นต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,284 วันที่ 3 -5 สิงหาคม พ.ศ. 2560