ทั่วโลกทุ่มสร้างสนามบิน เอเชียแชมป์จ่ายหนักลงทุนกว่า 1.2 แสนล้าน

03 ส.ค. 2560 | 04:44 น.
รายงานแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินของศูนย์การบิน CAPA Centre for Aviation ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า ภายในระยะเวลาประมาณ 50 ปีนับจากนี้ ทั่วโลกจะมีการใช้เม็ดเงินราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายและสร้างท่าอากาศยานเพื่อให้สอดรับกับปริมาณการเดินทางด้วยเครื่องบินที่เพิ่มมากขึ้น

ยกตัวอย่างสนามบินแห่งใหม่ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นโครงการลงทุนมูลค่า 12,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีกำหนดจะเปิดให้บริการในปี 2562 นี้แล้ว โดยสนามบินดังกล่าวเมื่อเปิดใช้งานจะทำให้มหานครปักกิ่งของจีนกลายเป็นศูนย์กลางการบินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ขณะที่เกาหลีใต้ ก็กำลังมีแผนลงทุน 5 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ของสนามบินนานาชาติอินชอน โดยมีเป้าหมายยกระดับของสนามบินสู่การเป็นศูนย์กลางการบินขนาดใหญ่ หรือ mega-hub airport ชั้นแนวหน้าของโลก ตามมาติดๆ ด้วยการลงทุน 117,000 ล้านบาท (หรือราวๆ 3,500 ล้านดอลลาร์) ของไทยในการยกระดับสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งรวมถึงการก่อสร้างรันเวย์ที่ 3

MP20-3248-B รายงานของ CAPA ซึ่งคาดการณ์เม็ดเงินลงทุนด้านสนามบินทั่วโลกไปจนถึงปี ค.ศ. 2069 ระบุว่า การลงทุนด้านสนามบินของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะมีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ (ดังแผนภูมิประกอบ) คือมีมูลค่ามากกว่า 125,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การลงทุนในสหรัฐฯและแคนาดา คาดว่าจะอยู่ที่ระดับเพียง 3,600 ล้านดอลลาร์เท่านั้น นักวิเคราะห์กล่าวว่า การแข่งขันช่วงชิงความเป็นศูนย์กลางการบินโลก หรือ aviation hub นั้นมีสูงมาก และแนวโน้มการแข่งขันที่เกิดขึ้นก็อาจทำให้สิงคโปร์และฮ่องกง ศูนย์เสียสถานะการเป็นศูนย์กลางหรือชุมทางการบินแห่งภูมิภาคเอเชียไปได้ ซึ่งทั้งสิงคโปร์และฮ่องกง ก็ไม่ได้นิ่งเฉย ต่างมีมาตรการตั้งรับของตัวเองเช่นกัน ยกตัวอย่าง สนามบินชางงี ที่เพิ่งเผยโฉมอาคารที่พักผู้โดยสารแห่งที่ 4 ในสไตล์สุดลํ้าเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาและคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนต่อขยายดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุนราว 1,300 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (950 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

MP20-3248-A ขณะที่ฮ่องกงเองก็มีแผนถมที่ดินส่วนหนึ่งในทะเลจีนใต้เพื่อการก่อสร้างรันเวย์แห่งที่ 3 มูลค่าการลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งสิงคโปร์และฮ่องกงเป็นจุดเปลี่ยนผ่านหรือจุดต่อเครื่องบิน (transit point) ยอดนิยมในปัจจุบัน แต่การรุกคืบของสนามบินแห่งอื่นๆในภูมิภาคก็อาจทำให้สถานภาพของทั้ง 2 แห่งต้องสั่นคลอน
จากการรวบรวมข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินโดยศูนย์ CAPA พบว่า ในตัวเลขลงทุนรวมทั่วโลก 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯนั้น ประมาณ 255,000 ล้านดอลลาร์ จะเป็นการลงทุนสร้างสนามบินแห่งใหม่ๆ และ 845,000 ล้านดอลลาร์จะเป็นการลงทุนปรับปรุงและต่อขยาย เช่น สร้างรันเวย์หรืออาคารที่พักผู้โดยสารเพิ่ม ระยะเวลาการก่อสร้างของโครงการต่างๆ ที่ CAPA รวบรวมมานั้น โครงการท้ายสุดจะแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2069 หรือในอีก 52 ปีข้างหน้า โครงการเหล่านี้เป็นการขยายตัวของธุรกิจสนามบินเพื่อรองรับการขยายตัวของการเดินทางทางอากาศที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย

ยกตัวอย่างประเทศจีน สายการบินหลักๆของจีน อย่างเช่น ไชน่า เซาเทิร์น แอร์ไลน์ส นั้นในแต่ละปีจะมีผู้โดยสารประเภทที่เป็นผู้เดินทางออกนอกประเทศด้วยเครื่องบินครั้งแรกเป็นจำนวนมาก ทำให้ทางการจีนมีแผนสร้างคลัสเตอร์สนามบินขนาดใหญ่มาตั้งอยู่ใกล้ๆ กับฮ่องกง เพื่อที่จะบินตรงออกนอกภูมิภาคโดยไม่ต้องผ่านฮ่องกง ขณะที่สายการบินไห่หนาน แอร์ไลน์ส และเฉินตู แอร์ไลน์ส ก็เปิดเส้นทางบินใหม่ๆ จากเมืองชั้นกลางและชั้นรองของจีน บินตรงสู่สหรัฐฯและยุโรป โดยไม่ต้องแวะเปลี่ยนเครื่องที่ฮ่องกงเช่นกัน จากรายงานการวิจัยของบริษัท แอร์บัสฯ ที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ พบว่า ภายในปี ค.ศ. 2036 จีนเองจะเป็นตลาดใหญ่ที่มีจำนวนผู้โดยสารเครื่องบินเพิ่มขึ้น 4 เท่า เป็น 1,600 ล้านคน หรือเฉลี่ยเดินทางกันคนละ 1.3 เที่ยวบินต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,284 วันที่ 3 -5 สิงหาคม พ.ศ. 2560