“ราคาเหล็กยังไม่พ้นวิกฤติ แม้ครึ่งปีหลังกลับสู่ภาวะปกติ”

05 ส.ค. 2560 | 00:16 น.
ภาพรวมสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กยังไม่พ้นขีดอันตราย จากการเดินสายเข้ามาทุ่มตลาดเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศ หากวัดการใช้กำลังผลิตเหล็กภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเหล็กแผ่นรีดร้อนที่มีกำลังผลิตรวมในประเทศเต็มเพดานอยู่ที่ 9 ล้านตันต่อปี แต่ผลิตได้จริงเพียง 2.5-2.6 ล้านตันต่อปี หรือผลิตได้ในสัดส่วนราว 30% ของกำลังผลิตเต็มเพดาน ในขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศต่อปีมีจำนวน 7 ล้านตัน ในจำนวนนี้กลายเป็นว่ามีการนำเข้ามาก?ถึง 60%

นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็ก รวมถึงภาพรวมในช่วง6เดือนที่ผ่านมาและแนวโน้มครึ่งหลังปี 2560 ที่มีหลายเรื่องที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กทั้งระบบที่มองว่ายังไม่พ้นวิกฤติ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาปริมาณเหล็กในประเทศยังล้นตลาดอยู่จำนวนมาก ในขณะที่บทลงโทษหรือการกำหนดมาตรการปกป้องยังไม่เข้มแข็งเหมือนประเทศอื่น ที่ใช้ยาแรงในการตอบโต้ โดยพบว่านานาประเทศต้องใช้มาตรการทางการค้าเพื่อสกัดสินค้าเหล็กทุ่มตลาดและปกป้องอุตสาหกรรมเหล็ก โดยปัจจุบันทั่วโลกมีการไต่สวนและใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าเหล็กที่เพิ่มขึ้น(Safequard) และมาตรการตอบ โต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) สินค้าเหล็กรวม 130 มาตรการ เป็นการตอบโต้สินค้าเหล็กจากจีนมากที่สุด 82 มาตรการ รองลงมาคือเกาหลีใต้ 48 มาตรการ

[caption id="attachment_187963" align="aligncenter" width="503"] “ราคาเหล็กยังไม่พ้นวิกฤติ แม้ครึ่งปีหลังกลับสู่ภาวะปกติ” “ราคาเหล็กยังไม่พ้นวิกฤติ แม้ครึ่งปีหลังกลับสู่ภาวะปกติ”[/caption]

ภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กครึ่งแรกปี 2560 ราคาเหล็กตกตํ่าลงมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน 2560 โดยราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนร่วงจาก 20,000-21,000 บาทต่อตัน ลงมาอยู่ที่ 17,000-18,000 บาทต่อตันน่าจะถึงจุดตํ่าสุดแล้ว โดยราคาตกตํ่าลงมา จากสาเหตุที่จีนส่งออกเหล็กออกมาดั๊มพ์ตลาดจำนวนมาก ไม่เพียงแค่จีนยังมีอีกหลายประเทศที่เข้ามาทุ่มตลาดเหล็กภายในประเทศไทย รวมไปถึงการต่อสู้กับคู่แข่งที่มีเล่ห์กลทางการค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี

**ครึ่งหลังราคากลับสู่ปกติ
สำหรับครึ่งปีหลังประเมินว่า ราคาน่าจะปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติได้แล้ว และมองว่าราคาเหล็กในช่วงที่ผ่านมาน่าจะไปถึงจุดตํ่าสุดมาแล้ว นับจากที่จีนออกมาประกาศปิดโรงงานผลิตเหล็กด้อยคุณภาพกว่า 100 แห่ง เพื่อลดกำลังผลิตเหล็กชนิดต่างๆลง 100-150 ล้านตัน ภายในปี 2563 โดยในปี 2560 จะเริ่มลดปริมาณเหล็กนำร่องก่อนจำนวน 50-60 ล้านตัน นอกจากนี้ในปี 2560 เศรษฐกิจจีนเริ่มกลับมาเติบโตได้ 7-8% จะเป็นตัวเร่งที่ทำให้ราคาเหล็กเข้าสู่แดนปกติได้ โดยครึ่งหลังปี 2560 คาดว่า ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยราคาจะขยับขึ้นมาเท่าไหร่ขึ้นอยู่ที่ราคาสินธุ์แร่เหล็กและราคาถ่านหิน แต่มั่นใจว่าโดยรวมราคาเหล็กจะเสถียรมากขึ้น

**ไทยยังใช้กำลังผลิตต่ำ
นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย กล่าวว่าเมื่อปีที่ผ่านมา ในประเทศไทยมีความต้องการใช้เหล็กทุกชนิดรวมกันประมาณ 19 ล้านตัน ปี 2560 คาดว่าก็จะยังรักษาระดับเดิมไว้ได้ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นกลุ่มเหล็กแผ่น 8 ล้านตัน และกลุ่มเหล็กทรงยาว 11 ล้านตัน

อย่างไรก็ตามแม้มีสัญญาณว่าราคาเหล็กทุกชนิดจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง แต่ขณะนี้ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเหล็กดิบและสินค้าเหล็กสุทธิ(ปริมาณนำเข้า-ปริมาณส่งออก)มากสุด เป็นอันดับ 3 ของโลกจำนวน 16.1 ล้านตัน ในขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กของไทย มีการใช้กำลังผลิตเพียง 41% เศษ จากกำลังผลิตเหล็กทั้งหมดในประเทศ นับว่าเป็นการใช้กำลังผลิตที่ตํ่ามาก และน้อยกว่าค่าเฉลี่ยการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กโลกซึ่งอยู่ที่ 71.8% เป็นตัวชี้วัดสำคัญให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเหล็กของไทยยังคงอยู่ในภาวะถดถอย และจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข

นอกจากนี้มีผู้ผลิตหลายรายเริ่มสั่งซื้อเทคโนโลยีเตาหลอมแบบ Induction Furnace ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่ารวมทั้งเครื่องจักรเก่าจากจีนเข้ามาแล้ว ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเครื่องจักรเก่าเหล่านี้มีคุณภาพที่ด้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สำคัญเตาหลอมดังกล่าวยังด้อยประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานและก่อมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นการตั้งโรงงานผลิตเหล็กใหม่ในอนาคตควรมีการเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กโลก ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังในเรื่องเหล่านี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,284 วันที่ 3 -5 สิงหาคม พ.ศ. 2560