ประมง 2 หมื่นลำ ไร้สัญชาติ อ้อนเปิดจดทะเบียนเรือใหม่-ผวาโทษหนัก

05 ส.ค. 2560 | 00:11 น.
ประมงพื้นบ้านระสํ่า ปูดเรือไร้สัญชาติกว่า 2 หมื่นลำยังไม่ได้จดทะเบียนกับกรมเจ้าท่า อ้อนเปิดจดใหม่ ผวาโดนจับ โทษปรับหนักตามมูลค่าสัตว์นํ้าที่จับได้ ขณะคาใจห้ามจับสัตว์นํ้าขนาดเล็กควรกำหนดชนิด และจำนวนตัวต่อกิโลฯให้ชัด กรมประมงเปิดเวที 4 ภาครับฟังความเห็น

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2560 กรมประมงได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรือประมงพื้นบ้าน จากก่อนหน้านี้ทางสมาคมประมงได้ไปยื่นหนังสือที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (17ก.ค.60)โดยเรียกร้องหลายเรื่อง อาทิ ให้ยกเลิกมาตรา 34 ใน พ.ร.ก.การประมง 2558 ที่ห้ามผู้ได้รับใบอนุญาตทำประมงพื้นบ้านทำประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง โดยบังคับให้ทำประมงในเขตชายฝั่งเท่านั้น ยกเว้นได้รับอนุญาตจากอธิบดีซึ่งส่งผลกระทบต่อประมงพื้นบ้านกว่า 80% เป็นต้น

[caption id="attachment_179452" align="aligncenter" width="503"] photo 101455 สะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย[/caption]

นายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลการหารือในครั้งนี้ โดยมี ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมงเป็นประธานว่าทางสมาคมได้ขอให้มีการชี้แจง และเสนอให้มีการทบทวน เกี่ยวกับพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 เรื่องคำจำกัดความประมงพื้นบ้าน เครื่องมือประมงผลสรุปค่อนข้างน่าพอใจ ชาวประมงได้รับความชัดเจนมากขึ้น

“ยกตัวอย่างเรือประมงพื้นบ้าน มีความชัดเจนว่า เรือต้องมีขนาดตํ่ากว่า 10 ตันกรอส มีแรงงานประมงไม่เกิน 4 คนต้องเป็นคนในครอบครัว ไม่ใช้แรงงานต่างด้าว และต้องไม่ใช้เครื่องมือ อวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง อวนลากคู่ อวนล้อมจับ อวนล้อมจับปลากะตัก อวนครอบปลากะตัก คราดหอยประกอบเรือกล และเรือช่วยทำประมง (เรือปั่นไฟ) เพราะกลุ่มนี้แม้ว่าเรือจะมีขนาดตํ่ากว่า 10 ตันกรอสก็ต้องถือว่าเป็นเรือประมงพาณิชย์ โดยพิจารณาจากเครื่องมือที่มีการทำลายล้างสูง (ดูกราฟิกประกอบ)”

นายสะมะแอ กล่าวอีกว่า ปัญหาประมงพื้นบ้านประเมินว่ามีเรือในระบบ 3-4 หมื่นลำ ในจำนวนนี้ มีเรือไร้สัญชาติหรือเรือที่ยังไม่ได้ไปจดทะเบียนกับกรมเจ้าท่า คาดจะมีมากกว่า 2หมื่นลำ จากปัจจุบันข้อมูลเรือประมงพื้นบ้านตามขนาดตันกรอส ปี 2560 มีจำนวน 2.77 หมื่นลำเท่านั้น โดยเป็นเรือขนาดตํ่ากว่า 3 ตันกรอสสัดส่วน 64% ดังนั้นทางสมาคมขอให้กรมเจ้าท่าเปิดให้จดทะเบียนเรือใหม่ (ก่อนหน้านี้ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันที่6 สิงหาคม2558ใช้ ม.44 งดจดทะเบียนเรือประมงทั้งประมงพาณิชย์และพื้นบ้าน)

อย่างไรก็ดีทางอธิบดีกรมประมงได้ยํ้าว่า เรือตํ่ากว่า 10 ตันกรอส และไม่มีเครื่องมือข้างต้น หรือเครื่องมือที่ไม่ต้องขออนุญาตให้ทำการประมง ไม่ต้องมาขอใบอาชญาบัตร(ใบอนุญาตทำประมง) เพียงแต่ต้องไปจดทะเบียนเรือกับกรมเจ้าท่าเท่านั้นก็สามารถทำประมงได้ปกติ ส่วนกฎหมายที่ห้ามเรือประมงพื้นบ้านไปทำประมงนอกเขตน่านนํ้านั้น เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยเกรงออกไปแล้วจะเกิดอันตราย เรื่องนี้จะไปหารือกับกรมเจ้าท่าอีกครั้ง

[caption id="attachment_187957" align="aligncenter" width="503"] ประมง2หมื่นลำไร้สัญชาติ อ้อนเปิดจดทะเบียนเรือใหม่-ผวาโทษหนัก ประมง2หมื่นลำไร้สัญชาติ อ้อนเปิดจดทะเบียนเรือใหม่-ผวาโทษหนัก[/caption]

ส่วนข้อเรียกร้องที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ มาตรา 57 ของ พ.ร.ก.ที่ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์นํ้าหรือนำสัตว์นํ้าที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมงเรื่องนี้อยากจะให้มีการกำหนดชนิดสัตว์นํ้ามาเลย อาทิ ปลาทูต้องมีขนาดเล็กกี่ตัวต่อ 1 กิโลกรัม เป็นต้น เพราะเวลาถูกจับจะโดนปรับตามมูลค่าของสัตว์นํ้า 4-5 เท่า นอกจากนี้ปัญหาแต่ละพื้นที่แตกต่างกันทั้งนี้กรมประมงจะเปิดเวที 4ภาคได้แก่ ภาคใต้ตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน ฝั่งอันดามัน และภาคตะวันออก ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ เพื่อรับฟังความเห็นจากประมงระดับจังหวัด ชมรม หรือสมาคม หรือเครือข่ายต่างๆ เพื่อนำผลสรุปเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่อีกครั้งในวันที่19สิงหาคมนี้ที่กรมประมง เป้าหมายเพื่อดูแลนโยบายและสะท้อนภาพรวมอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,284 วันที่ 3 -5 สิงหาคม พ.ศ. 2560