สรท.แนะรับมือการค้ายุคใหม่ปรับเป้าส่งออกโต5%

04 ส.ค. 2560 | 23:50 น.
การส่งออกของไทยในช่วง 6 เดือนแรกปี 2560 ที่มีมูลค่า 1.13 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯขยายตัวสูงถึง 7.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และถือเป็นสถิติการส่งออกที่ขยายตัวสูงสุดในช่วงครึ่งแรกของปีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา สร้างความมั่นใจให้กระทรวงพาณิชย์ต่อเป้าหมายการส่งออกขยายตัวที่ 5% ในปีนี้มากขึ้นทุกขณะ อย่างไรก็ดีในมุมมองของ “กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกเห็นเป็นอย่างไรนั้น “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษดังนี้

**ส่งออกโตจากราคาพุ่ง
“กัณญภัค” กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกในครึ่งปีแรกที่ขยายตัวได้ดีมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายรายการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น ข้าว ยางพารา รวมถึงมีสินค้าผักผลไม้ที่ออกตามฤดูกาลที่ออกมามากในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้มีสินค้าส่งออกหรือใช้แปรรูปส่งออกมากขึ้น

“ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้นมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว และพีกในไตรมาสที่ 1/2560 เช่นราคายางพาราที่ขึ้นตามราคานํ้ามัน ซึ่งจะสลับกับครึ่งแรกปีที่แล้วที่การส่งออกยังติดลบ ราคาสินค้ายังตกตํ่า แต่พอครึ่งหลังราคาทุกอย่างดันขึ้น ปีนี้ครึ่งแรกก็เลยขึ้นตลอด ส่งผลให้การส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ขยายตัวสูงมาก(มูลค่าการส่งออกยางพาราครึ่งแรกปีนี้ขยายตัว 57.7% และผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว 56.1%)”

อย่างไรก็ดีจากข้อมูลการส่งออกรายเดือนจะเห็นตัวเลขการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางเริ่มลดลงตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และจากนี้มองว่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง อาจไม่ได้ขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลักเหมือนก่อนหน้านี้ เพราะราคายางอิงกับราคานํ้ามัน รวมถึงราคายางสังเคราะห์ ซึ่งขณะนี้ราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกตํ่ากว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลายสถาบันในต่างประเทศได้วิเคราะห์ข้อมูลว่าราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยจะไม่เกิน 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลไปอีก 2 ปี จะเป็นแรงกดดันทำให้สินค้าบางรายการอาจขึ้นราคาไม่ได้ เช่น ยางพาราและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับนํ้ามัน(เช่นเม็ดพลาสติกผลิตภัณฑ์พลาสติก)จะฉุดการส่งออกครึ่งปีหลังอาจจะไม่ได้สูงเท่าที่คาดการณ์เอาไว้ ส่วนสินค้ากลุ่มผักผลไม้นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นปี ผลผลิตจะลดลง และการส่งออกก็จะลดลง

**ปรับคาดการณ์ส่งออกโต5%
“อย่างไรก็ดีล่าสุดที่ประชุม สรท.วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ได้มีการประเมินคาดการณ์ส่งออกใหม่โดยได้พิจารณามีปัจจัยลบในครึ่งหลังของปีนี้แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ แต่การส่งออกทั้งปีนี้ก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้เกิน 3.5% ตามที่สรท.เคยประเมินไว้ จึงได้มีการปรับคาดการณ์ส่งออกทั้งปีนี้เป็น 5% ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้”

ทั้งนี้มีปัจจัยหลักจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่ตลาดส่งออกหลักของไทยในภาพรวมการส่งออก-นำเข้าก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น ด้านสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการก็มองว่ายังไปได้ดีในเดือนที่เหลือของปีนี้ เช่นยางพาราแม้ราคาจะลดลง อาหารยังไปได้แม้อาจโตได้ไม่ถึง 10% ตามที่คาดการณ์ไว้ อิเล็กทรอนิกส์จะเป็นซีซันของการขาย อัญมณีฯอาจจะยังติดลบ แต่ถัวเฉลี่ยทุกสินค้าก็คาดว่าปีนี้ภาพรวมส่งออกไทยน่าจะขยายตัวได้ 5% จึงเป็นที่มาของการปรับคาดการณ์ส่งออกเพิ่มขึ้นดังกล่าว

[caption id="attachment_187942" align="aligncenter" width="335"] “กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) “กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.)[/caption]

**รับปัจจัยเสี่ยงอื้อ
อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการส่งออกในเดือนที่เหลือของปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่อีกมาก ที่สำคัญคือค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากแตะระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในเวลานี้ ซึ่งทางสภาฯได้เข้าไปหารือกับทางผู้ว่าการแบงก์ชาติเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเพื่อให้ช่วยดูแลใกล้ชิด เพราะการแข็งค่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกในภาพรวมเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก

นอกจากนี้มีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก ซึ่งต้องจับตามอง 3 กลุ่มประเทศได้แก่สหรัฐฯญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปรวมอังกฤษที่กำลังดูในเรื่องการลดคิวอีลง(การอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ) เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น โดยในส่วนของสหรัฐฯก็มีแนวโน้มจะลดคิวอีและจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วย ซึ่งถ้ากลุ่มประเทศเหล่านี้ลดคิวอีลงหรือขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะส่งผลต่อค่าเงินสกุลอื่นๆ รวมทั้งค่าเงินบาทของไทยที่จะผันผวนซึ่งไม่ว่าบาทจะอ่อนค่าลงหรือแข็งค่าขึ้นก็จะมีผลต่อการส่งออก

ขณะเดียวกันยังต้องติดตามนโยบายการค้าของโดนัลด์ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนและชัดเจน รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่ต้องติดตามใกล้ชิด เช่น การเจรจาเพื่อออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ(เบร็กซิท) ที่ยังเจรจากันอยู่ และยังไม่ค่อยมีความคืบหน้า แต่มีกรอบเจรจาแล้วเสร็จใน 2 ปี ซึ่งความตกลงต่างๆ จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปอังกฤษ และสหภาพยุโรป เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการค้าขาย เรื่องราคาสินค้าเกษตร ที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย รวมถึง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่รัฐบาลให้เวลานายจ้างและลูกจ้างไปดำเนินการให้ถูกต้อง ตามกฎหมาย ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรมที่ผลิตส่งออก เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพราะส่วนหนึ่งพึ่งพาการใช้แรงงานต่างด้าว

**จี้รับมือค้าโลกยุคใหม่
“กัณญภัค” กล่าวอีกว่า การทำธุรกิจส่งออกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก และส่วนใหญ่แข่งขันกันที่ราคา หากผู้ประกอบการยังใช้วิธีการเก่าๆ เช่นค่อยๆ ส่งราคาเสนอลูกค้าอาจจะเสียโอกาส ขณะที่วันนี้ในเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์ดิจิตอลมีผลต่อเรื่องการทำธุรกิจมาก ดังนั้นคงต้องเริ่มมาดูในประเด็นการนำเรื่องของดิจิตอลอิโคโนมีเข้ามาใช้มากขึ้น โดยผู้ประกอบการคงต้องพยายามเริ่มรับเอาเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์ เรื่องของดิจิตอลใหม่ๆ เข้ามาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในการทำธุรกิจ

“อีกตัวหนึ่งที่มองไว้คือการสร้างเป็นลักษณะอี-คอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม ที่ผ่านมาทางกระทรวงพาณิชย์ก็มองเรื่องนี้โดยมี Thaitrade.com เป็นช่องทางการค้าอี-คอมเมิร์ซให้ผู้ประกอบการ หรือมีอี-คอมเมิร์ซแพลตฟอร์มต่างๆ แต่มองว่าอนาคตคงไม่ใช่ลักษณะแพลต ฟอร์มง่ายๆ แค่ซื้อ-ขายไปเหมือนอาลีบาบา แต่อาจจะต้องมองในการขยายขอบข่ายออกไปมากขึ้น หรือทำเป็นในลักษณะบล็อกเชนเข้ามาหรือไม่ เพื่อจะได้ป้องกันในเรื่องของการแฮกกิ้งจากแฮกเกอร์ หรือผู้ที่ประสงค์ไม่ดีต่างๆ ซึ่งในรูปของบริษัทถ้าไม่มีระบบป้องกันก็จะเกิดความเสียหายได้มาก”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,284 วันที่ 3 -5 สิงหาคม พ.ศ. 2560