กรมสุขภาพจิตแนะพ่อแม่ตั้งสติอย่าลืมดูแลลูกช่วงน้ำท่วมเหตุเด็กก็เครียดเป็น

30 ก.ค. 2560 | 04:32 น.
กรมสุขภาพจิต แนะ พ่อแม่ ตั้งสติ อย่าลืมดูแลลูก ท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วม เพราะเด็กก็เครียดเป็น ควรเอาใจใส่และสังเกตุพฤติกรรม

นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น เด็กๆ อาจได้รับผลกระทบทางจิตใจไปด้วย อันเนื่องจากการที่ได้เห็นและรับรู้ความทุกข์ความกังวลของผู้ใหญ่และคนในครอบครัว ซึ่งเด็กๆ อาจสูญเสียสัตว์เลี้ยง หรือของเล่นที่ตนรัก ชีวิตประจำวันตามปกติต้องสะดุดลง เช่น โรงเรียนต้องปิด ต้องอพยพย้ายที่อยู่ เป็นต้น รวมไปถึงการที่เห็นคนในครอบครัวและคนที่รู้จักบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์รุนแรงได้ ดังนั้น การป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่ดีที่สุดในภาวะเช่นนี้ คือ การเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งเด็กจะเป็นปกติสุขได้ หากพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถปรับตัวจัดการกับปัญหาได้ทั้งระหว่างเกิดภัยน้ำท่วมและในภายหลัง เด็กๆ มักต้องการพึ่งพาในเรื่องข้อมูลทั่วไป คำปลอบโยนและความช่วยเหลือ

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นของเด็กแต่ละวัยอาจตอบสนองต่อภาวะน้ำท่วม และผลที่ตามมาแตกต่างกันไปตามระดับอายุ พัฒนาการ และประสบการณ์ที่เคยมีมาก่อน พ่อแม่จึงควรรับรู้และสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ปฏิกิริยาที่อาจพบในเด็ก เช่น กลัว หวาดหวั่นเรื่องความปลอดภัยของตนและคนอื่นๆ รวมทั้งของสัตว์เลี้ยง กลัวการแยกจากคนในครอบครัว มีพฤติกรรมติดผู้ใหญ่ พ่อแม่ พี่น้อง มีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่งเพิ่มขึ้น สมาธิและความตั้งใจลดลง ถดถอย หลีกหนีผู้อื่น โกรธ หงุดหงิดง่าย ลงมือลงเท้า แสดงอารมณ์ก้าวร้าวกับพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน บ่นเจ็บป่วยไม่สบาย ปวดท้อง ปวดหัว พฤติกรรมการเรียนเปลี่ยนไป เช่น ไม่สนใจเรียน เพ่งความสนใจอยู่กับเรื่องน้ำท่วม เช่น พูดถึงซ้ำๆ แสดงเนื้อหาเรื่องน้ำท่วมในการเล่น

mor1

ไวต่อสิ่งเตือนใจ ที่ทำให้นึกถึงน้ำท่วม มีปัญหาการกินการนอน ขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ พฤติกรรมถดถอย เช่น กลับมาปัสสาวะรดที่นอน เป็นต้น เด็กวัยรุ่นอาจแสดงออกแตกต่างไปจากเด็กที่เล็กกว่า มักรู้สึกว่าอนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอนและแสดงพฤติกรรม เช่น ถดถอยทางสังคม เก็บตัว โกรธ หงุดหงิดได้ง่าย โต้เถียง ขัดแย้งกับผู้ใหญ่ ทำพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่ออันตรายเพิ่มขึ้น และอาจใช้เหล้า หรือยา เป็นต้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรให้เวลาเพื่อพูดคุยกับพวกเขา ทำให้พวกเขารู้ว่าเขาสามารถพูดคุยซักถามและแบ่งปันความกังวลใจที่มีได้ โดยมีผู้ใหญ่ยินดีรับฟัง ควรเปิดโอกาสให้เด็กรับรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวหรือกับโรงเรียนของเขา หรือ กับชุมชนที่อยู่ และอย่าลืมถามความรู้สึก ความคิดเห็นของเขาบ้าง

ทั้งนี้ ในกรณีที่เด็กๆ อาจยกเรื่องต่างๆ ที่เขากังวลสงสัยขึ้นมาถามซ้ำๆ ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรกังวลใจหรือเบื่อที่จะตอบ และในเด็กเล็ก หลังจากคุยกันแล้ว อาจเล่านิทาน หรือเรื่องราวสนุกๆ ให้เขาฟัง หรือทำกิจกรรมสบายๆ ผ่อนคลายร่วมกันในครอบครัว เพื่อทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย ผ่อนคลายและใจสงบได้ พ่อแม่ผู้ปกครอง สามารถช่วยได้ โดย แสดงตนเป็นแบบอย่างของการปรับตัวในทางที่ดี มีอารมณ์สงบมั่นคง เพื่อให้เด็กเรียนรู้วิธีจัดการกับปัญหาที่เหมาะสม ระมัดระวังคำพูดของผู้ใหญ่ในเรื่องวิกฤตที่เกิดขึ้นเพราะเด็กอาจรับรู้และแปลความอย่างผิดๆจนเกิดเป็นความหวาดกลัว ดูแลและจำกัดการรับรู้จากสื่อและข่าวสาร

โดยเฉพาะข่าวที่แพร่ซ้ำๆหรือแสดงภาพที่น่าหวาดกลัว ให้ความมั่นใจกับเด็กว่า ผู้ใหญ่สามารถช่วยกันดูแลให้เขาปลอดภัย โดยผู้ใหญ่อาจต้องบอกซ้ำหลายๆ ครั้ง แม้ว่าเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว แสดงออกความรัก ด้วยการกอด เล่น และใช้เวลาร่วมกันด้วยความสุข หากเด็กแสดงความกังวลสงสัยว่าเพื่อนของเขาปลอดภัยดีหรือเปล่า พ่อแม่ก็ควรให้ความมั่นใจกับเขาอย่างเหมาะสม ดูแลใส่ใจเรื่องสุขภาพ อาหาร การพักผ่อนนอนหลับของเด็กให้เป็นไปตามกิจวัตร ตักเตือนให้เด็กระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยในภาวะน้ำท่วม ดูแลรักษาเรื่องระเบียบวินัย กฎเกณฑ์ต่างๆ ในครอบครัวให้เป็นไปตามปกติ สนับสนุนให้เด็กมีส่วนช่วยในงานต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่ายที่ต้องอยู่เฉยๆ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นควรสนับสนุนให้เขามีส่วนช่วยในงานของชุมชน งานจิตอาสา เป็นต้น

“ในยามที่ครอบครัวต้องเผชิญเหตุการณ์วุ่นวายจากภาวะวิกฤต หลายคนมักลืมดูแลตัวเอง ผู้ใหญ่จึงควรตระหนักว่า เราจะดูแลเด็กได้ดี ก็ต่อเมื่อดูแลตนเองได้แล้วเสียก่อน หากพบว่าตัวเองหรือคนในครอบครัวเริ่มหงุดหงิด โต้เถียงกัน หรือชวนทะเลาะ มากขึ้น นั่นเป็นสัญญาณบอกว่า มีความตึงเครียดสูง จึงควรช่วยกันหาทางออก ดูแลจิตใจและอารมณ์ของกันและกัน หรือปรึกษาบุคลากรสุขภาพจิต หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ แม้ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยากก็ตาม และแม้ว่าทุกคนจะพยายามช่วยกันแล้ว ก็ยังหลีกเลี่ยงความเสียหายไม่ได้ แต่ปัญหาสุขภาพจิตในครอบครัวที่อาจตามมาเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ถ้าทุกคนในครอบครัวมีความรักและดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว