เจ้าท่าชาร์จค่ารุกลำน้ำ

02 ส.ค. 2560 | 07:00 น.
กรมเจ้าท่าขีดเส้นตาย 1 ก.ย. 60 ใครอยากได้โฉนดทางนํ้าให้เร่งแจ้งครอบครองสิทธิสิ่งล่วงลํ้าลำแม่นํ้าทุกประเภทด่วน! อีกด้านเคาะค่าตอบแทนรัฐรายปีแล้ว ท่าเทียบเรือสำราญเสีย 250 บาท/ตร.ม./ปี เขื่อนกันนํ้าเซาะ 300 บาท/ตร.ม./ปี ทำเชิงธุรกิจควักเพิ่ม 2 เท่า เกาะ-แหล่งท่องเที่ยวลุ้นได้รับอนุญาตหรือไม่

กรมเจ้าท่าได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ... ออกตามความพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านนํ้าไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา เรื่องกำหนดค่าตอบแทนเป็นรายปีสำหรับสิ่งปลูกสร้างล่วงลํ้าลำแม่นํ้า ตามมาตรา 117 ทวิ ที่ผู้รับอนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใด ต้องเสียค่าตอบแทนเป็นรายปี ตามวิธีการและ อัตราที่กำหนดในกระทรวง ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าตารางเมตรละ 50 บาท และถ้าเป็นอาคารหรือสิ่งอื่นใดซึ่งมีลักษณะหรือวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจให้เสียเป็น 2 เท่าของอัตราดังกล่าว

++ก่อน 1 ก.ย.ได้นิรโทษกรรม
นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางนํ้า กรมเจ้าท่า เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากมาตรการบรรเทาความเสียหายจากผลกระทบกรณีสิ่งปลูกสร้างล่วงลํ้าลำแม่นํ้า ตามพระ ราชบัญญัติการเดินเรือในน่านนํ้าไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 นั้น มีผู้ได้รับความเดือดร้อน จำนวนมากโดยเฉพาะในภาคเกษตรและการอาศัยของประชาชนริมนํ้า ซึ่งเป็นวิถีชุมชนดั้งเดิม นายก รัฐมนตรีจึงได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 32/2560 การบรรเทาความเสียหายให้แก่ประชาชนในกรณีปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงลํ้าแม่นํ้าออกไปจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2560 โดยผู้มีสิ่งปลูกสร้างล่วงลํ้าลำนํ้าจะต้องไปยื่นเอกสารหลักฐานแสดงการเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองจะได้รับการยกเว้นทางโทษอาญาและโทษปรับทางปกครองสำหรับความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560

“ล่าสุดมีผู้มาแจ้งการปลูกสร้างสิ่งล่วงลํ้าลำแม่นํ้าแล้วประมาณ 1 หมื่นรายทั่วประเทศ ดังนั้นจึงขอประชาสัมพันธ์ให้มาแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการล่วงลํ้าลำแม่นํ้า เป็นประเภทอาคารที่พักอาศัย โฮมสเตย์ หรืออื่นๆ ที่สร้างยื่นลงไปในแม่นํ้า ลำคลอง บึง อ่างเก็บนํ้า ทะเลสาบ ที่เป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือทะเลภายในน่านนํ้าไทยหรือบนชายหาด หรือคลองขุด (ถ้าไม่แน่ใจต้องแจ้งก่อน) เพื่อที่จะได้รับการยกเว้นโทษปรับตามกฎหมายใหม่ หรือนิรโทษกรรมทั้งหมด”

++เคาะจ่ายรายปี-ธุรกิจเสีย2เท่า
นายกริชเพชร กล่าวอีกว่า ผู้ที่มาแจ้งหากได้รับอนุญาต (ใบโฉนดทางนํ้า)จะต้องเสียค่าตอบแทนเป็นรายปีสำหรับสิ่งปลูกสร้างล่วงลํ้าลำแม่นํ้าแก่รัฐ อาทิ ท่าเทียบเรืออัตราตารางเมตร(ตร.ม.)ละ 50 บาท/ปี ,ท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา ตร.ม.ละ 250 บาท/ปี เขื่อนกันนํ้าเซาะ 300 บาท/ตร.ม./ปี เป็นต้น (ดูอินโฟกราฟิก) สาเหตุที่จะต้องจัดเก็บเพราะเป็นการปลูกสร้างในพื้นที่สาธารณประโยชน์ โดยการคำนวณพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงลํ้าลำแม่นํ้าให้คำนวณตามพื้นที่ที่ล่วงลํ้าเข้าไปตามความเป็นจริง เศษของพื้นที่ ไม่ถึง 1 ตร.ม. ให้คิดเป็น 1 ตร.ม.

“ส่วนกรณีหมู่บ้านชายเลน เกาะช้าง หมู่บ้านกลางนํ้า เกาะหลีเป๊ะ หรือเกาะอื่นๆ ใครไม่แน่ใจว่ารุกลํ้าหรือไม่ขอให้มาแจ้งก่อน หลังจากนั้นกรมเจ้าท่าจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบและจะจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบหรือไม่ภายใน 180 วันนับตั้งแต่วันที่แจ้ง หากได้รับอนุญาตให้เสียค่าตอบแทนเป็นรายปี แต่ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจะแจ้งอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรซึ่งจะอยู่ในมาตรการที่ 2 รองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย”

[caption id="attachment_186286" align="aligncenter" width="203"] เจ้าท่าชาร์จค่ารุกลำน้ำ เจ้าท่าชาร์จค่ารุกลำน้ำ[/caption]

++แนะรับรองสิทธิเลี่ยงบุกรุก
นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีเอฟ) เผยว่า ร่างกฎกระทรวงผู้ที่ได้รับอนุญาตเสียค่าตอบแทนเป็นรายปี อยากเสนอแนวทางเพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วม โดยการรับรองสิทธิของคนวิถีนํ้า เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดในอนาคต เช่น เกาะปันหยี หรืออัมพวา เป็นต้น แทนที่จะมองกลุ่มนี้เป็นแค่ผู้เช่า อยากให้มองลักษณะแบบผู้อยู่อาศัย คือ อยู่แบบชอบธรรม แล้วจะให้ค่าบำรุงรัฐทั่วไปเหมือนเสียบำรุงท้องที่?มากกว่า แล้วให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านโดยอาศัยภาพถ่ายดาวเทียมประกอบ เพราะถ้ากรมไม่ต่อสัญญา เช่าก็จะมีปัญหาในภายหลัง

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบธุรกิจภาคบริการในภาคใต้ ได้หยิบยก กรณีเกาะช้าง เกาะภูเก็ต หมู่บ้านกลางนํ้าจังหวัดพังงา เกาะเสม็ด เกาปันหยี รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่ล่วงลํ้าลำนํ้าจะได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการหรือไม่ ทางเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าได้แจกแจงว่า จะต้องให้ผู้ประกอบการมาแจ้งก่อน หากพิจารณาและได้รับอนุญาตจะต้องจ่ายค่าตอบแทนรายปี 2 เท่า แต่กลุ่มนี้จะโดนกฎหมาย 2 ฉบับ อาทิ กฎหมายของกรมอุทยานฯ และกฎหมาย พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านนํ้าไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ด้วยหากกรมเจ้าท่าอนุญาตให้ประกอบกิจการต่อ ก็จ่ายเป็นรายปี 2 เท่า แต่กรมอุทยานฯ จะอนุญาตก็ต้องไปว่ากันอีกฉบับ เพราะคนละหน่วยงาน ไม่สามารถไปตัดสินใจแทนกันได้

++แจ้งผลใน 180 วัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า หลังจากที่ผู้ครอบครองสิ่งล่วงลํ้าลำแม่นํ้ามาแจ้งแล้ว ภายใน 180 วันจะแจ้งผล ให้ทราบ ซึ่งรัฐบาลมีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่กรมเจ้าท่าเคยอนุญาตให้สร้างบ้านเรือนก่อนปี 2537 อนุญาตให้อยู่ห้ามโอนขาย แล้วห้ามสร้างใหม่ 2.กลุ่มสร้างบ้านเรือนหลังปี 2537 ยกให้รัฐบาลแล้วขอเช่าต่อ และ 3.กลุ่มเลี้ยงปลากระชัง/ผู้ประกอบการ ให้โอนสิทธิให้รัฐและขอเช่าต่อซึ่งค่าเช่าจะสูงกว่า 2 กลุ่มแรก ส่วนผู้ที่แจ้งแล้ว กรมเจ้าท่าไม่อนุญาตจำเป็นต้องรื้อถอนแล้วจะมีการจ่ายเงินเยียวยาจะเป็นไปตามระเบียบค่าเวนคืนที่ดินต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,283  วันที่ 30 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560