เซ็นทรัล-ซีพี-บีทูร่วมชิงโรงแรมปั๊มปตท.

02 ส.ค. 2560 | 04:30 น.
ปตท.เปิดคัดเลือกเอกชนบริหารบัดเจ็ต โฮเต็ล ในปั๊มนํ้ามัน 50 แห่งรอบใหม่ โดยเชิญเจ้าของแบรนด์โรงแรมร่วม 10 ราย รับฟังบรีฟวิ่ง เผยครั้งนี้มาแปลกไม่ตั้งเงื่อนไขใดๆ เปิดให้เสนอแผนเต็มที่

หลังจาก บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เปิดให้ผู้ประกอบการโรงแรมเข้าร่วมพัฒนาโรงแรมราคาประหยัดหรือบัดเจ็ต โฮเต็ลภายในสถานีบริการนํ้ามันของปตท. 50 แห่ง มาแล้ว 2 ครั้งแต่ไม่ประสบผลสำเร็จล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปตท.ได้เริ่มขบวนการสรรหาใหม่อีกครั้งโดยเชิญผู้ประกอบการโรงแรมร่วม 10 รายเข้ารับฟังการบรรยายสรุปถึงเงื่อนไขต่างๆ ก่อนที่จะเปิดให้เอกชนที่สนใจแจ้งความจำนงเบื้องต้นว่าจะเสนอตัวหรือไม่ภายในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ เพื่อเปิดให้ยื่น Proposal นำเสนอโครงการและคาดว่าจะจัดเลือกให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการโรงแรมเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ายังมีผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้เล่นหลักในธุรกิจบัดเจ็ต โฮเต็ล 5 ราย ที่เคยยื่นความจำนงมาแล้วก่อนหน้านี้มาร่วมรับฟังด้วยได้แก่ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เจ้าของแบรนด์ ฮอพอินน์, ซี.พี.แลนด์ เจ้าของแบรนด์ ฟอร์จูน ดี, โกลเบิ้ลพร๊อพเพอร์ตี้คอนเซ้าติ้ง แอนด์แมเนจเม้นท์ เจ้าของแบรนด์บีทู, กลุ่มเซ็นทารา อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเม้นท์ เจ้าของแบรนด์โคซี่ และกำลังจะสร้างบัดเจ็ต โฮเต็ลแบรนด์ใหม่ และ Wyndham Group (Kosmopolitan Hospitality) เจ้าของแบรนด์ ซุปเปอร์ เอต ( uper 8) นอกจากนี้ยังมีเชนโรงแรม อย่างเบส เวสเทิร์น และเชนอื่นๆ เข้าร่วมด้วย

“ครั้งนี้ถือเป็นรอบที่ 3 แล้วหลังเปิดรอบแรกเมื่อต้นปี2559 มีผู้ประกอบการ 5รายยื่นเสนอตัว แต่เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนปีเดียว กันปตท.ได้แจ้งผู้ประกอบการทุกรายว่าล้มโครงการไป เนื่องจากมีผู้ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ไม่ถึง 3 ราย ราวเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ปตท.ได้เปิดให้เอกชนมายื่นเสนอตัวอีกครั้งแต่เพียง 2 สัปดาห์ก็แจ้งยกเลิกไปก่อน”

แหล่งข่าวกล่าวว่า การเปิดคัดเลือกเอกชนในรอบนี้ ทางปตท.เปิดกว้างมาก ไม่ได้ระบุเงื่อนไขใดๆ และแจ้งให้เอกชนทราบว่าสามารถเสนอแผน ให้พิจารณาตามที่เอกชนต้องการ จะเสนอมากี่แผน กี่รูปแบบก็ได้ รวมถึงสามารถเลือกเสนอได้เลยว่าสนใจบริหารบัดเจ็ต โฮเต็ลจำนวน 50 แห่งในทำเลใดบ้าง จากสถานที่ตั้งปั้มนํ้ามันกว่า 100 แห่งให้เลือก โดยปตท.หรือดีลเลอร์ เป็นผู้ลงทุน แตกต่างจาก 2 รอบแรกที่ระบุเงื่อนไขละเอียดยิบ

โดยรอบแรกระบุว่า จะรับบริหารจัดการโรงแรมเพียงอย่างเดียวหรือจะเข้ามาร่วมลงทุน การจัดสรรส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ปตท.ในสัดส่วนเท่าไหร่ เพื่อให้คืนทุนโดยไม่เกิน 5-7 ปี ภายใต้เงื่อนไขว่า จะเป็นโรงแรมขนาดไม่เกิน 79 ห้อง เพื่อเลี่ยงเรื่องการศึกษาผลกระทบของสิ่งแวดล้อม มีเพียงห้องพักส่วนอาหาร เครื่องดื่มให้ใช้บริการ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น อเมซอน หรือพันธมิตรที่มีบริการในปั้มอยู่แล้ว ส่วนรอบที่ 2 มีการกำหนดทีโออาร์ไม่ชัดเจน และเป็นรอบที่สั้นมาก เพราะส่วนใหญ่เอกชนไม่สนใจ

“ที่ผ่านมาปตท.อาจจะคิดมากเกินไป เมื่อเอกชนเสนอแผนไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ ก็ทำให้ต้องล้มการประมูลไป จากการติดเงื่อนไขต่างๆที่สร้างขึ้น ดังนั้นการเปิดกว้างให้เอกชนมาเสนอแผนได้เต็มที่จะเป็นแนวทางที่ปตท.จะเลือกแผนที่คิด?ว่าเหมาะสมที่สุดในการพัฒนาบัดเจ็ต โฮเต็ลในปั๊มนํ้ามัน”

[caption id="attachment_186291" align="aligncenter" width="339"] อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์[/caption]

เนื่องจากการพัฒนาในโครงการนี้ถือว่าล่าช้าไปพอสมควรแล้ว หากเทียบกับแผนการขยายการลงทุนในธุรกิจนอนออยล์อื่นๆ ที่เดิมวางแผนจะเริ่มก่อสร้าง 5 แห่งแรก ต้นปี 2560 และเปิดบริการปี 256 และจะทยอยก่อสร้างปีละ 10 แห่งจนครบ 50 แห่ง ดังนั้นแผนการเปิดให้เอกชนเสนอแผนได้เต็มที่ในรอบนี้ น่าจะทำให้โครงการนี้เกิดได้ตามแผนที่ปตท.วางไว้ แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจนํ้ามัน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า คาดว่าเรื่องนี้จะได้ข้อสรุปภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยที่ผ่านมา ปตท.เจรจากับพันธมิตรเจ้าของเชนโรงแรมมาแล้วหลายราย โดยดูเงื่อนไขและความเหมาะสมในการลงทุนร่วมกัน แต่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาจึงไม่สามารถเปิดเผยได้ จนกว่าจะมีความชัดเจนถึงพันธมิตรที่จะร่วมทุนในเดือนกันยายนนี้ และจะเห็นการลงทุนบัดเจ็ต โฮเต็ลตามสถานีนํ้ามันปตท.ภายในปีหน้า

สาเหตุที่ดำเนินการ โครง การบัดเจ็ต โฮเต็ลเชื่อว่าจะสามารถต่อยอดธุรกิจค้าปลีกของปตท. หลังมองเห็นศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจ รองรับผู้ที่เดินทางบ่อยในหลายพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีการเจรจากับพันธมิตรหลายราย แต่ละเลือกเพียงรายเดียว ภายในปีนี้ และพร้อมจะดำเนินการในปีหน้า โดยวางเป้าหมายจะมีโรงแรมในสถานีนํ้ามัน 50 แห่งภายใน 5 ปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,283
วันที่ 30 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560