อียูหวั่นมะกันคว่ำบาตรรัสเซีย ขู่ตอบโต้หากบริษัทพลังงานยุโรปโดนหางเลข

30 ก.ค. 2560 | 07:00 น.
แผนการควํ่าบาตรรัสเซียรอบใหม่ของสหรัฐฯ เสี่ยงกระทบบริษัทในอุตสาหกรรมพลังงานของยุโรปที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย อย่างไรก็ดีประเทศสมาชิกอียูยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันว่าควรจะมีท่าทีต่อมาตรการควํ่าบาตรของสหรัฐฯ ครั้งนี้อย่างไร

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติท่วมท้น 419 ต่อ 3 เสียง ผ่านกฎหมายมาตรการควํ่าบาตรรัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ นับเป็นการเปิดทางก้าวสำคัญไปสู่การควํ่าบาตรรัสเซียระลอกใหม่ เพื่อตอบโต้กับข้อกล่าวหาที่ว่ารัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานา ธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปีก่อน ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภาเพื่อผ่านการอนุมัติ และส่งต่อไปยังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อลงนามอนุมัติต่อไป

ในขณะที่รัฐบาลทรัมป์มีท่าทีคัดค้านกฎหมายควํ่าบาตรฉบับดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นการแทรกแซงอำนาจการบริหารประเทศและสร้างความยากลำบากในการกำหนดนโยบายด้านการต่างประเทศ และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่านายทรัมป์จะใช้อำนาจยับยั้งหรือไม่ แม้ว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีน้อยเพราะสภาคองเกรสเกือบทั้งหมดสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ อีกฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก นั่นคือสหภาพยุโรป (อียู) ก็มีท่าทีไม่พอใจกับมาตรการดังกล่าวเช่นเดียวกัน

หนึ่งในเป้าหมายหลักของมาตรการควํ่าบาตรรัสเซียระลอกใหม่ของสหรัฐฯ พุ่งไปที่ภาคธุรกิจพลังงาน ด้วยการตั้งค่าปรับสำหรับบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการด้านพลังงานในรัสเซีย ซึ่งทางการยุโรปกังวลว่ามาตรการควํ่าบาตรจะส่งผลกระทบต่อโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เชื่อมโยงระหว่างรัสเซียและยุโรป

หนึ่งในนั้นคือโครงการท่อส่งก๊าซ นอร์ด สตรีม 2 (Nord Stream 2) โครงการร่วมทุนมูลค่า 9.5 พันล้าน?ยูโร ที่จะทำหน้าที่ส่งก๊าซจากรัสเซียข้ามทะเลบอลติกมายังเยอรมนี โครงการของบริษัทก๊าซพรอมของรัสเซีย?ที่มีหลายบริษัทในยุโรปให้การสนับสนุน อาทิ วินเทอร์เชลล์ บริษัทนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติสัญชาติเยอรมัน บริษัท รอยัล ดัทช์ เชลล์ ของเนเธอร์แลนด์และอังกฤษ บริษัท โอเอ็มวี ของออสเตรีย และบริษัท เอ็นจี ของฝรั่งเศส

ท่อส่งก๊าซใหม่นี้จะวางขนานไปกับท่อเดิม คือ นอร์ด สตรีม 1 โดยจะสามารถเพิ่มปริมาณก๊าซที่ส่งออกมาจากรัสเซียได้อีก 5.5 หมื่นล้านคิวบิกเมตรต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียของยุโรปที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

MP21-3283-b ก่อนหน้านี้นายฌอง-คล้อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เรียกร้องให้มีการทบทวนว่ายุโรปควรจะตอบโต้อย่างไร ถ้าบริษัทพลังงานของยุโรปได้รับผลกระทบจากมาตรการควํ่าบาตรของสหรัฐฯ ขณะที่นายมาร์คัส เบย์เรอร์ ผู้อำนวยการกลุ่มบิสิเนส ยุโรป เรียกร้องให้สหรัฐฯ หลีกเลี่ยงมาตรการที่จะสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจและประชาชนในยุโรปเพียงฝ่ายเดียว

เจ้าหน้าที่ทางการยุโรปกล่าวว่า คณะกรรมาธิการยุโรปอาจจะเรียกร้องให้สหรัฐฯ ให้คำมั่นอย่างเป็นทางการว่าจะไม่รวมบริษัทพลังงานของยุโรปเข้าไปอยู่ในขอบข่ายของมาตรการควํ่าบาตร หรืออาจจะเลือกออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ เช่น การห้ามไม่ให้บริษัทสหรัฐฯ เข้าถึงแหล่งเงินทุนของธนาคารยุโรป

อย่างไรก็ตาม มาตรการตอบโต้ในลักษณะนี้จะต้องได้รับการเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกอียูทั้ง 28 ประเทศ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีน้อยมาก เพราะมีหลายประเทศในยุโรปที่คัดค้านโครงการนอร์ด สตรีม 2 โดยเฉพาะโปแลนด์ และอีกหลายประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก เนื่องจากมองว่าเป็นโครงการที่จะยิ่งเพิ่มการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,283
วันที่ 30 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560