จากัวร์ เอฟ-เพซเอสยูวีเสือตัวผู้

30 ก.ค. 2560 | 04:00 น.
เมื่อตลาดเอสยูวีมันหอมหวลชวนสัมผัส “จากัวร์” บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอังกฤษ ที่เดิมมีแต่รถสปอร์ตและรถซาลูน จึงต้องเดินตามกระแสโลกด้วยการเพิ่มตัวถังเอสยูวีออกมาทำตลาด

“เอฟ-เพซ” (F-Pace) เป็นผลผลิตดังกล่าว ซึ่งจริงๆการพัฒนาไม่น่าจะยากอะไร ด้วยการใช้พื้นฐานร่วมกับ “เอฟ-ไทป์” และ “เอ็กซ์เอฟ” ขณะที่ “แลนด์โรเวอร์” แบรนด์ภายใต้หลังคาเดียวกัน ก็มีเทคโนโลยีของเอสยูวีอยู่ครบมือ(ก็พี่ไม่ทำรถแบบอื่นเลย)

ทั้งนี้เมื่อทำ “เอฟ-เพซ” เอสยูวีสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา ทางแลนด์โรเวอร์จะมีเอี่ยว ด้วยการแชร์พื้นฐานมาผลิต “เรนจ์โรเวอร์ เวลาร์” อีกหนึ่งโมเดล (เปิดตัวในไทยปลายปีนี้) เพื่อความคุ้มค่าในการผลิต

ส่วนเมืองไทย JLR เพิ่งได้ผู้ดูแลตลาดรายใหม่ ชื่อ“อินช์เคป” ก็มุ่งมั่นคึกคักตามบริษัทแม่ละครับ

mp36-3283-3 อย่างจากัวร์ เอฟ-เพซ เปิดตัวในเมืองไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดย “อินช์เคป” เลือกรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ ขนาด 2.0 ลิตร พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD เข้ามาทำตลาด แบ่งการขายเป็น 3 รุ่นย่อย คือตัวท็อป Portfolio ราคา 5.999 ล้านบาท รุ่น R-Sport ราคา 5.499 ล้านบาท ส่วนรุ่นเริ่มต้น Pure ราคา 4.699 ล้านบาท

ผมได้รุ่นท็อปมาลองขับครับ แต่ดูอินช์เคปจะใจดี จัดออพชันเสริมมาให้เพียบ ทั้งบันไดข้างควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า(ช่วยอำนวยวามสะดวกในการขึ้น-ลงห้องโดยสาร โดยจะยื่นออกมาและเก็บเข้าไปเมื่อเปิดหรือปิดประตู) มูลค่า 1.2 แสนบาท ล้ออัลลอยเล่นเต็มซุ้มขนาด 22 นิ้ว(ถ้าเริ่มต้นจะขนาด 18 นิ้ว) 4 วงรวมยาง ก็เกือบ 3 แสนบาทเข้าไปแล้ว
…เอามาลองขับก็เครียดเล็กน้อย ระวังห้ามเบียด ปาด ปีน หรือถูกอะไรตำ เข้ามาทีเดียว!!!

จากัวร์ยังชูความโดดเด่นของการพัฒนาตัวถังจาก อะลูมิเนียม (Lightweight Aluminium Architecture-LAA) ซึ่งเป็นวัสดุหลักในการผลิตโครงสร้างถึง 80% นั่นส่งผลให้เอฟ-เพซ มีนํ้าหนักตัวเพียง 1,767 กก. จากมิติยาว 4,746มม.กว้าง 2,070 มม.และสูง 1,650 มม. และระยะฐานล้อ 2,874 มม.

mp36-3283-1 เรื่องของนํ้าหนักตัวและการออกแบบอันเป็นเอก ลักษณ์ เส้นสายตัวถังเฉียบคม และดูมีพลังพุ่งทะยาน ถือเป็นจุดเด่นของเอสยูวีรุ่นนี้ในการสู้กับคู่แข่งจากเยอรมนี ทั้งเมอร์เซเดส-เบนซ์ จีแอลซี และบีเอ็มดับเบิลยู เอ็กซ์3

ขุมพลังดีเซล 2.0 ลิตร 180 แรงม้า แรงบิดระดับ 430 นิวตันเมตร ประกบเกียร์อัตโนมัติ 8สปีด พลังดีขับขี่สบาย แต่ต้องเรียนรู้จังหวะและนํ้าหนักในการกดคันเร่งพอสมควร ขณะที่ความเร็ว 120 กม./ชม. รอบเครื่องยนต์อยู่ระดับ 1,900 รอบต่อนาที เท่านั้น

ส่วนตัวผมคิดว่า “จีแอลซี 250d” (ดีเซล 2.1 ลิตร ประกบเกียร์อัตโนมัติ 9 สปีด) ขับเนียนกว่า เช่นเดียวกับการควบคุมพวงมาลัย ซึ่งการตอบสนองของ “เอฟ เพซ” หนืดไปนิดในความเร็วตํ่า ต้องใช้แรงควบคุมพอสมควร(ล้อ 22 นิ้ว ประกบยาง 265/40 R22 อาจจะมีผล)

ด้านช่วงล่างหน้าแบบปีกนกคู่ หลังเป็นอินทีกรัล ลิงก์ พยายามทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ แต่เมื่อเจอชุดล้อและยางระดับเทพเข้าไป เมื่อผ่านทางขรุขระหรือเนินหลังเต่า ยังรับรู้แรงสะเทือนได้พอสมควร

เหนืออื่นใด เมื่อขับขี่ความเร็วสูง ทั้งทางตรงทางโค้ง ตัวรถยังนิ่งแน่นให้ความมั่นใจสูง พร้อมการเก็บเสียงภายในห้องโดยสารอันเงียบกริบ วิ่งใช้ทางไกลน่าจะเป็นพาหนะที่ยอดเยี่ยมรุ่นหนึ่ง ประกอบกับระบบควบคุมการกระจายแรงบิดลงสู่ล้อตามสภาพการขับขี่ ที่จะขับเคลื่อน 2 ล้อหลังในสภาพปกติหรือความเร็วตํ่าเพื่อความคล่องตัว แต่เมื่อสภาพการขับขี่เปลี่ยนไป สามารถส่งกำลังไปยังล้อคู่หน้าเพื่อเสถียรภาพการทรงตัวสูงสุด

mp36-3283-4 ด้านอัตราบริโภคนํ้ามันจากสภาวะวิ่งในเมือง สามารถใช้ความเร็วได้พอสมควร(รถไม่ติดมาก) ยังเห็นหน้าจอแสดงตัวเลขอยู่ 7 ลิตรต่อ 100 กม.

รวบรัดตัดความ...มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมบุคลิกการขับขี่ที่ต่างไปจากเอสยูวีเยอรมัน แม้ “เอฟ-เพซ”จะเสียเปรียบเรื่องราคา เพราะเป็นรถนำเข้าทั้งคันจากโรงงานโซลิฮัล อังกฤษ แต่ถ้าพลิกเป็นจุดขายพร้อมบรรยายรายละเอียดอันลุ่มลึก บนชื่อชั้นความคลาสสิกของแบรนด์ นี่ถือเป็นรถหรูที่มหาเศรษฐีควรมีไว้ประดับโรงรถละครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,283
วันที่ 30 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560