เกษตรดันเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 10.4 ล้านไร่-สั่งรับมือพายุ “เซินกา”

26 ก.ค. 2560 | 11:29 น.
รัฐมนตรีเกษตรฯ เผยการพัฒนาเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามแนวทางยุทธศาสตร์น้ำ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เดินหน้าเกินเป้า พร้อมสั่งกรมชลฯ พร้อมรับมือพายุโซนร้อน “เซินกา” ย้ำทุกโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัยให้จับตาอย่างใกล้ชิด

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินงานตามแนวทางแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (พ.ศ. 2558-2569) ของรัฐบาล และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ประมาณ 1.75 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันในปีงบประมาณ 2560 และ 2561 กระทรวงเกษตรฯ ได้พัฒนาให้เกิดพื้นที่ชลประทานแล้วประมาณ 1.30 ล้านไร่ หรือคิดเป็น76% ดังนั้น จะเห็นว่าเป้าหมายของกระทรวงเกษตรฯ ได้เดินไปสู่เป้าหมาย เมื่อครบระยะเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ในปี 2564 การพัฒนาระบบชลประทานของกระทรวงเกษตรฯ ก็จะเกินเป้าหมายแน่นอน

ส่วนในแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (พ.ศ. 2558-2569) มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ประมาณ 8.70 ล้านไร่ เมื่อถึงปี 2564 กระทรวงเกษตรฯ มีแผนพัฒนาถึง 5.22 ล้านไร่ จะเหลือเป้าหมายในการพัฒนาให้ครบตามยุทธศาสตร์น้ำประมาณ 3.50 ล้านไร่ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯได้มอบหมายให้กรมชลประทาน ดำเนินการพิจารณาวางแผนในการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ให้ได้อย่างน้อย 5-7 แสนไร่/ปี เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้อย่างสำเร็จ ส่วนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯได้ดำเนินการเกินเป้าหมายอยู่แล้ว ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มีเป้าหมายในการดำเนินการตามแผน Road Map อย่างชัดเจน และขณะนี้ได้ดำเนินการเกินกว่าแผนที่ตั้งไว้

[caption id="attachment_185619" align="aligncenter" width="335"] นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน[/caption]

ด้านนายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์พายุโซนร้อน “เซินกา” (SONCA) ที่จะเข้าปกคลุมในไทยว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) ได้ติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำ โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานสภาวะอากาศเมื่อเวลา 23.00 น. ของคืนที่ผ่านมา (25 ก.ค. 60) พายุโซนร้อน “เซินกา” (SONCA) ที่ปกคลุมบริเวณเมืองดองฮอย ประเทศเวียดนามได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นและได้เคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศลาวแล้ว มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 55 กม./ชม. พายุนี้กำลังเคลื่อนที่ทางตะวันตกด้วย ความเร็ว 20 กม./ชม. จะเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณจังหวัดมุกดาหารวันนี้ (26 ก.ค. 60) ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้างกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ในช่วงวันที่ 25-28 ก.ค. 60 ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทาน เตรียมการรับมือกับพายุโซนร้อน “เซินกา” โดยการบริหารจัดการน้ำด้วยการใช้ระบบชลประทานและระบบป้องกันน้ำท่วม ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจสอบระบบชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ตามสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลาอย่างเคร่งครัด สำหรับพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำได้มีการติดตั้งเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำไว้แล้วทุกจุด พร้อมกับทำหนังสือแจ้งสถานการณ์น้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม

ในส่วนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ได้ให้ทุกโครงการชลประทานที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำต่างๆ โดยเฉพาะอ่างฯที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์มาก ให้บริหารจัดการน้ำ ด้วยการลดระดับน้ำในอ่างฯให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ มากกว่าความจุของอ่างฯ รวมไปถึงอ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่รับน้ำฝนขนาดใหญ่ ที่เมื่อฝนตกหนักจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องเฝ้าระวัง ติดตาม และวิเคราะห์สถานการณ์เป็นพิเศษ ส่วนในกรณีที่อ่างเก็บน้ำใดๆ จำเป็นต้องมีการพร่องน้ำล่วงหน้า เพื่อให้มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำฝนที่จะลงมาเหนืออ่างฯ นั้น ได้ให้โครงการชลประทานที่รับผิดชอบ ดำเนินการประชาสัมพันธ์ และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำออกจากอ่างฯ โดยให้รายงานสถานการณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับสถานการณ์น้ำ (ข้อมูล ณ 26 ก.ค.60) ปริมาณน้ำมีค่าเฉลี่ยค่อนข้างมาก คือ ประมาณ 44% ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยมีอยู่ 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำแม่กวง และอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำที่มีน้ำมากกว่า ร้อยละ 80 มี 1 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำมูล จังหวัดสกลนคร และพบว่าปัจจุบันมีน้ำมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันประมาณ 1.04 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจึงคาดว่าในช่วงฤดูแล้งในปีต่อไป เกษตรกรจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามในการป้องกันอุทกภัยยังมีพื้นที่รองรับน้ำในเขื่อนได้ถึง 3.06 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้สถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำมากกว่าเมื่อปีที่แล้วในวันเดียวกันถึง 3,436 ล้านลูกบาศก์เมตร