AISตามผล“แอปฯอสม.ออนไลน์”ผนึกสธ.-ดีอีจัดประกวดทั่วประเทศ

26 ก.ค. 2560 | 10:36 น.
เอไอเอส ติดตามการนำเทคโนโลยีดิจิทัล “แอปฯอสม.ออนไลน์” ใช้บริหารจัดการงานสาธารณสุขชุมชนจ.ชัยภูมิ พร้อมส่งเสริมให้เป็น สมาร์ท อสม. ขานรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จับมือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัด “ประกวดการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์” ทั่วประเทศรับเงินรางวัลรวมกว่า 7 ล้านบาท สนับสนุนชมรม อสม.

นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอสเผยว่า ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาบริการสื่อสารโทรคมนาคม และการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสังคมไทย โดยนำเทคโนโลยีสื่อสารดิจิทัลเข้าไปสร้างประโยชน์ และคุณค่าเพิ่มให้แก่ชุมชนและสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Digital For Thais” เอไอเอส จึงได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปส่งเสริมการทำงานด้านสาธารณสุขชุมชนเพื่อร่วมสนับสนุนนโยบายของภาครัฐให้ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

 

ais1 เอไอเอส ได้พัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสังคม โดย “แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์” เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่ม สำหรับหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อสื่อสารข้อมูล ภาพ เสียง วิดีโอ ข้อความ และพิกัดแผนที่ ระหว่างสมาชิกในกลุ่ม ผ่านรูปแบบการแจ้งข่าวสาร และการสนทนา ทำให้สมาชิกในเครือข่าย สามารถรับรู้ ข้อมูลข่าวสาร และเหตุการณ์ความเคลื่อนไหว ด้านสาธารณสุขและภัยสุขภาพภายในชุมชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ฉับไว ถูกต้อง แม่นยำทันต่อสถานการณ์ ทำให้สามารถควบคุมและป้องกันโรคระบาดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมทั้งให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านในชุมชนให้รู้จักดูแลสุขภาวะของตนเองได้ในเบื้องต้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมงานด้านสาธารณสุขของชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงคนในชุมชนจะมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

เอไอเอสได้เริ่มเปิดให้บริการ แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ แก่หน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ รพ.สต. และ อสม. มาตั้งแต่ปลายปี 2558 โดยใช้ได้กับทุกเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเมื่อใช้งานบนเครือข่ายเอไอเอสจะไม่เสียค่าบริการอินเทอร์เน็ต เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบริษัทในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างคุณค่าแก่คนไทยและประเทศไทยอย่างแท้จริงทำให้แอปพลิเคชันนี้ได้ถูกนำไปบูรณาการในการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. ในบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเอไอเอสเองมีทีมงานและพนักงานจิตอาสาลงพื้นที่สอนการใช้งาน ติดตามผลรับทราบความต้องการและพัฒนาแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากกระบวนการทำงานที่ชัดเจน แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ จึงได้รับการคัดเลือกจากทั่วโลก ให้ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ส่งเสริมกระบวนการทำงาน การเรียนรู้และสุขภาพ ประจำปี 2017 (WSIS 2017 Prizes Winner) จากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) และองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในงานด้านสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรม

ais2

“ปัจจุบัน มีหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และรพ.สต. ได้นำแอปฯอสม.ออนไลน์ไปใช้งานแล้วจำนวน 450 แห่งทั่วประเทศ สำหรับในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รพ.สต.บ้านแก้ง อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ เป็นอีกหนึ่ง รพ.สต.ที่ได้นำแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ มาใช้ในการบริหารจัดการงานด้านสาธารณสุขชุมชนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 และพบว่าได้เห็นผลเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อทั้ง รพ.สต. อสม.และประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนมีแผนการนำแอปพลิเคชันนี้มาใช้ร่วมกันกับ อสม.อย่างเป็นกระบวนการ ทั้งนี้ เอไอเอสมุ่งหวังว่า แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ จะเป็นนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสังคมที่จะก่อให้เกิดคุณค่าต่อสังคมในบริบทชุมชนต่างๆอย่างแท้จริง โดยเอไอเอสจะทำงานร่วมกันกับ รพ.สต. อสม. และกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ให้เกิดประโยชน์ต่องานด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องต่อไป” นางวิไล เคียงประดู่ กล่าว

ด้านนายสมชาย นาคราช ผู้อำนวยการสำนักปฎิบัติการด้านเทคนิค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เอไอเอส กล่าวว่า การจะใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือโทรศัพท์มือถือให้เต็มประสิทธิภาพ โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่ต้องครอบคลุม และมีคุณภาพ เพื่อรองรับการให้บริการที่ทุกวันนี้พัฒนาจากระบบการสื่อสารผ่านเสียงเป็นการสื่อสารด้วยข้อมูลที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชีวิต และสุขภาพ ที่จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีผู้ที่มีความรู้ด้านนั้นๆช่วยกรองข่าวสารเพื่อให้ข้อมูลน่าเชื่อถือ และครบถ้วน ดังนั้น จำเป็นต้องมีทั้งเครือข่ายสัญญาณที่ครอบคลุม และมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ซึ่งแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพที่เชื่อถือได้

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เอไอเอสได้มีการมีขยายเครือข่าย 3G บนคลื่น 2100 MHz และ 4G บนคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ครอบคลุมทั้ง 20 จังหวัด ด้วยสถานีฐานกว่า 10,000 จุดและแผนขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใช้งานบนเครือข่ายเอไอเอสสามารถติดต่อสื่อสารและเข้าถึงการใช้งานทั้งแบบเสียง และข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกพื้นที่ครอบคลุมแล้วกว่า 98.72% ของพื้นที่มีประชากรอาศัยอยู่ รวมถึงการใช้งานบนแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ด้วยเช่นเดียวกัน

ais3

นายวิพล โชคบัณฑิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)บ้านแก้ง อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ปัจจุบัน รพ.สต.บ้านแก้ง มีประชากรที่ต้องดูแลรับผิดชอบ 5,663 คน จาก 1,266 ครัวเรือน ในพื้นที่รวม 63 ตารางกิโลเมตร โดยเจ้าหน้าที่ รพ.สต. 5 คน และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)จำนวน 120 คน ทั้งนี้มีโรคระบาดประจำถิ่นที่ต้องเฝ้าระวังคือโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนเป็นประจำทุกปี ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่าง รพ.สต. และเครือข่าย อสม.ต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้เครื่องมือในการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วที่สุดคือการใช้โทรศัพท์ติดต่อกับประธาน อสม.ตำบลหรือในแต่ละหมู่บ้าน หากไม่เร่งด่วนก็ใช้เอกสารจดหมายหรือรอการประชุมร่วมกันที่จัดขึ้นเดือนละครั้ง การส่งงานหรือการได้รับรายงานจาก อสม.จะเกิดขึ้นในวันประชุมประจำเดือน ในบางกรณี รพ.สต.ต้องการข้อมูลด่วนจาก อสม. ก็ต้องให้ประธาน อสม.หมู่นั้นๆติดตามจาก อสม.ในพื้นที่ แล้วนำมาส่งเข้ามือถืออีกทอดหนึ่ง หรือหากเป็นการติดตามการลงพื้นที่ทำงานของ อสม.โดยเฉพาะการเฝ้าระวังโรคระบาดหรือการเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงหรือกลุ่มที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ( NCD) ซึ่งต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ทาง รพ.สต.ก็จะได้รับรายงานจาก อสม.ในวันประชุม

“โดยส่วนตัวเป็นคนชอบเทคโนโลยีอยู่แล้ว พยายามศึกษาเครื่องมือต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบันแต่ก็ยังพบว่ามีข้อจำกัดในการทำงานร่วมกับเครือข่าย อสม.อยู่ แต่เมื่อได้ทราบว่ามีแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ก็ได้ศึกษาและพบว่าเป็นแอปพลิเคชันระบบปิดเฉพาะกลุ่มที่ตอบโจทย์การทำงานด้านสาธารณสุขเชิงรุกระหว่าง รพ.สต.และเครือข่าย อสม.จริงๆ ทั้งในเชิงการบริหารจัดการผู้ใช้งาน การรับส่งข้อมูลภายในกลุ่ม และการจัดเก็บข้อมูลการทำงานของ อสม. โดยในช่วงเริ่มต้นที่นำแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ มาใช้งานในเดือนตุลาคม 2559 เน้นการแจ้งข้อมูลข่าวสารในการทำงานลงพื้นที่ของ อสม.และการรับส่งรายงาน รูปภาพ ความเคลื่อนไหวของ อสม.ในหมู่ต่างๆ ซึ่งทำให้ รพ.สต.ทำงานได้สะดวกขึ้นและได้รับรายงานข้อมูลทันสถานการณ์ ครอบคลุม ครบถ้วน ทำให้ระบบฐานข้อมูลของ รพ.สต.เป็นปัจจุบันมากขึ้น ทั้งนี้จากเดิมการจัดทำระบบฐานข้อมูลของ รพ.สต.อยู่อันดับที่ 12 ของอำเภอแก้งคร้อ ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 2 ภายหลังจากการนำแอปพลิเคชันนี้มาใช้งาน และยังสามารถนำข้อมูลที่ได้มาไปวิเคราะห์ แก้ปัญหา และวางแผนการทำงานได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพด้วย ทำให้ในปัจจุบันในพื้นที่รับผิดชอบสามารถควบคุมโรคระบาดอย่างไข้เลือดออกที่เป็นโรคที่เฝ้าระวังได้อีกด้วย” นายวิพล โชคบัณฑิต กล่าว

รพ.สต.บ้านแก้ง ได้วางแผนการนำแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่าง รพ.สต.และ อสม.โดยแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะแรกเป็นการขอความร่วมมือจากเครือข่าย อสม.ทุกคนให้รับข่าวสารและส่งรายงานประจำเดือน รวมถึงการลงพื้นที่ทำงานผ่านทางแอปพลิเคชันนี้ ถึงแม้ว่า อสม.บางคนจะมีอายุมากหรือไม่มีเครื่องมือสื่อสารหรือไม่เคยใช้แอปพลิเคชันใดๆมาก่อนก็ตาม แต่ด้วยความมั่นใจในเทคโนโลยีที่จะสร้างประโยชน์ในระยะยาวแล้ว ทาง รพ.สต.จึงได้ขอความร่วมมือจาก อสม. ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี

ส่วนระยะที่สองคือการสำรวจความพึงพอใจและสอบถามความคิดเห็นจาก อสม. ซึ่งพบว่า อสม.เห็นประโยชน์และต้องการใช้แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์นี้เป็นเครื่องมือสื่อสารในการทำงานระหว่างกัน โดยในระยะที่ 3 นี้ คือการนำไปต่อยอดและบูรณาการในการทำงานด้านอื่นๆ เช่น การใช้ระบบส่งข้อมูลแบบแผนที่เพื่อเฝ้าระวังอุบัติการณ์และจุดเสี่ยงต่างๆในชุมชน เช่น การเฝ้าระวังผู้ป่วยและพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออก การเฝ้าระวังจุดเสี่ยงต่อการเกิดการจมน้ำ และการเฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุทางถนนร่วมกันกับส่วนปกครองท้องถิ่นต่อไป เป็นต้น

นางวรณี รุญสำโภ ประธาน อสม.ตำบลบ้านแก้ง กล่าวว่า ในฐานะประธาน อสม.ของตำบล สิ่งที่ตนเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือ การติดต่อสื่อสารจาก รพ.สต.นั้น ทำได้โดยผ่านแอปฯ อสม.ออนไลน์ ให้ อสม.ทุกคนรู้ได้ทันทีพร้อมๆกัน ไม่ต้องผ่านตนซึ่งเป็นคนกลางสื่อสารไปยัง อสม.คนอื่นๆต่อ ทำให้ อสม.ทุกคน ได้รับข้อมูลจาก รพ.สต.อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์ และข้อมูลก็ถูกต้อง แม่นยำ เพราะมาจาก รพ.สต.โดยตรง และสามารถรับส่งข้อมูลกับทาง รพ.สต.หรือสอบถามผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ได้ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเฝ้าระวังโรคระบาดในพื้นที่ เมื่อ อสม.รู้ข่าวสารพร้อมกัน ก็จะรีบนัดหมายกันเพื่อลงพื้นที่ติดตามและป้องกันโรคได้อย่างทันท่วงที การประสานงานกันก็เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ais4

นางสาวิตรี เวียงคำ อสม.หมู่ 5 รพ.สต.บ้านแก้ง กล่าวว่า ตั้งแต่ได้นำแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ มาใช้งานลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วยของ อสม.สามารถถ่ายภาพอาการผู้ป่วยส่งให้กับเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ได้ทันทีตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงบั้นปลายชีวิตผู้ป่วย รวมถึงภาพการลงพื้นที่ และภาพการทำกิจกรรมต่างๆของอสม. ทำให้รพ.สต.ได้รับข้อมูลที่รวดเร็ว และครบถ้วน นอกจากนี้ช่วยให้อสม.มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องสาธารณสุขเพื่อไปบอกต่อกับคนในหมู่บ้านในชุมชนที่ดูแลได้ตลอดเวลาถึงแม้อสม.จะออกไปทำนาก็ตาม ช่วยให้อสม.ไม่ต้องเข้าไปรพ.สต.เดือนละหลายครั้งเพื่อรับทราบข่าวสารเท่านั้น ส่งผลให้อสม.ประหยัดเวลา และค่าน้ำมันในการเดินทาง

นายนิคม ฤาวงค์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 กล่าวว่า ปัจจุบันเมื่อมีโรคระบาดที่ต้องเฝ้าระวังเข้ามาในพื้นที่ชุมชน เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมือเท้าปากในเด็ก อสม.จะรับรู้ข่าวสารจาก รพ.สต.และนำมาแจ้งให้ชาวบ้านได้รับรู้ พร้อมกับลงพื้นที่สำรวจลูกน้ำยุงลายและกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบาดอย่างรวดเร็ว โดยมีการประสานงานกันกับผู้ใหญ่บ้านอย่างใกล้ชิด ช่วยให้สามารถป้องกันและเฝ้าระวังได้อย่างทันท่วงที หรือเมื่อมีกลุ่มเสี่ยงเกิดขึ้นในพื้นที่ อสม.จะแจ้งข่าวไปยังรพ.สต.และได้รับการสั่งการหรือคำแนะนำจาก รพ.สต. ผ่านแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ทันที ช่วยให้ควบคุมโรคไม่ให้ระบาดไปในหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งเรียกได้ว่า อสม.มีเครื่องมือในการทำงานและช่วย “แจ้งข่าวร้าย กระจายข่าวดี” ให้กับคนในชุมชนได้ตลอดเวลา อสม.จึงเป็นเสมือนทั้งเพื่อน และคนทำงานที่คอยช่วยคนในชุมชนเสมอ

นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวในตอนท้ายว่า จากประโยชน์ที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆทั้งต่อการทำงานระหว่าง รพ.สต.และ อสม. ต่อตัว อสม.เอง และต่อชุมชน ดังที่กล่าวมาแล้ว ทางเอไอเอสจึงเห็นว่าหาก รพ.สต.และ อสม.มีการนำแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ไปใช้งานกันอย่างต่อเนื่อง และกว้างขวางแล้วนั้น คุณค่า และประโยชน์จะเกิดต่อประชาชนและสังคมอย่างแท้จริง จึงมีแนวทางในการส่งเสริมการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ โดยเอไอเอสได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดให้มี “การประกวดการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์” ขึ้นโดยวัดผลทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพเมื่อนำไปใช้งานซึ่งเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 7 ล้านบาท จะมอบให้แก่ “ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข” ที่ชนะการประกวด ทั้งนี้รางวัลมี 2 ระดับ ได้แก่ รางวัลดีเด่นระดับประเทศ รางวัลละ 100,000 บาท จำนวน 10 รางวัล และรางวัลดีเด่นระดับจังหวัด (77 จังหวัด) รางวัลละ 40,000 บาท จังหวัดละ 2 รางวัล รวม 154 รางวัล โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 สิงหาคม 2560 ทั้งนี้ สำหรับหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และรพ.สต.ที่สนใจเข้าร่วมประกวดฯ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.ais.co.th/aorsormor, Facebook อสม.ออนไลน์ หรือสอบถามเพิ่มเติมที่โทร.06 2520 1999