ธปท.คุมก่อหนี้สินเชื่อไม่มีหลักประกัน รายได้ต่ำ 3 หมื่นบาท ให้วงเงิน 1.5 เท่า

26 ก.ค. 2560 | 05:58 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ธปท.คุมก่อหนี้สินเชื่อไม่มีหลักประกัน รายได้ต่ำ 3 หมื่นบาท ให้วงเงิน 1.5 เท่า

ธปท.ดีเดย์ 1 ก.ย.นี้ คุมการก่อหนี้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ระบุสินเชื่อส่วนบุคคลให้วงเงินแค่ 1.5 เท่าของรายได้ จำกัดสถาบันการเงิน 3 แห่ง ด้านบัตรเครดิตให้ 1.5 เท่าไม่คุมสถานประกอบการ พร้อมลดดอกเบี้ยเหลือ 18% จาก 20% ประเมินกระทบรายได้แบงก์ 4 พันล้านบาท

นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป จะมีผลบังคับใช้แนวทางการกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธปท.สำหรับผู้ขอมีบัตรเครดิตหรือผู้ขอสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหม่

S__17629347 สำหรับมาตรการสินเชื่อบัตรเครดิต ได้กำหนดวงเงินแก่ผู้ขอมีบัตรให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ตามรายได้ต่อเดือน โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ให้ได้รับวงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ และรายได้ตั้งแต่ 3-5 หมื่นบาท วงเงินไม่เกิน 3 เท่าของรายได้ และผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป วงเงินไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ และปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลงเหลือ 18% จาก 20% ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินในปัจจุบันที่ต้นทุนทางการเงินต่ำลง

credit-card-1520400_960_720-768x512 ทั้งนี้ จากการประเมินผลจากการปรับลดดอกเบี้ยลง 2% จะมีผลต่อรายได้หรือกำไรของทั้งระบบประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นการคำนวณจากยอดสินเชื่อคงค้างที่มีอยู่ แต่ต้องยอมรับว่าอาจจะไม่ใช้ตัวเลขที่แท้จริงหรือใช้อ้างอิงได้ถูกต้อง เพราะในยอดสินเชื่อคงค้างมีผู้ที่จ่ายชำระเต็มที่ไม่มีดอกเบี้ย และกลุ่มลูกค้าที่ผ่อนชำระขั้นต่ำ 10% จึงเป็นการประเมินคร่าวๆ เท่านั้น

ส่วนมาตรการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ได้ปรับวงเงินสินเชื่อแก่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน วงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ และปรับให้ได้รับวงเงินสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับไม่เกิน 3 ราย สำหรับผู้ที่มีรายได้เกิน 3 หมื่นบาทขึ้นไป กำหนดวงเงินไม่เกิน 5 เท่า แต่ไม่จำกัดจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่จะให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคแต่ละราย โดยยังคงเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ 28% เพื่อให้ผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ และผู้ประกอบธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจได้ด้วย

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการเปิดช่องให้กับลูกค้ารายใหม่ที่มีความจำเป็นฉุกเฉิน หรือมี Life Event สามารถขอวงเงินเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจได้ โดยผู้ประกอบการพิจารณาตามความสามารถในการชำระหนี้และวงเงินที่เหมาะสมกับลูกค้ารายนั้น นอกจากนี้ ธปท.ยังกำหนดเรื่อง Market Conduct ให้มีความชัดเจนขึ้น โดยธนาคารพาณิชย์จะต้องเก็บข้อมูลลูกค้าที่ไม่มีความประสงค์ที่จะให้เจ้าหน้าที่ธนาคารโทรหาในเรื่องการสมัครบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงกรณีที่สถาบันการเงินหักเงินผู้บริโภคผิดพลาด และต้องการคืนเงินสามารถคืนผ่านทางการโอนเข้าบัญชีธนาคาร หรือคืนเป็นเงินสด ซึ่งจากเดิมจะคืนให้ผู้บริโภคผ่านบัตรเครดิตเท่านั้น

“แนวทางการกำหนดดูแลสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต เป็นสิ่งที่ธปท.ได้ดูรอบคอบระหว่างหนี้ครัวเรือนและการเข้าถึงสินเชื่อ ทำให้กลุ่มที่มีความเปราะบางจะถูกจำกัดการก่อนหนี้ และจำกัดสถาบันการเงิน เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถการชำระหนี้ แต่เพื่อไม่ให้เป็นการถูกบีบออกไปนอกระบบ จึงไม่ได้กำหนดเพดานดอกเบี้ยยังคงอยู่ที่ 28% เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคให้กลุ่มนี้เดินไปสู่นอกระบบ และแบงก์เองก็ยังอยากที่จะปล่อยกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ แม้จะไม่ได้คาดหวังว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่จะช่วยให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างดีขึ้น โดยปัจจุบันตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาสแรกอยู่ที่ 78.6% ส่วนเอ็นพีแอลล่าสุดเดือนมิถุนายนอยู่ที่เกือบ 3%"