ร้อง ‘บล.หยวนต้า’ ตุ๋นซื้อกองทุน 300ล.

26 ก.ค. 2560 | 04:27 น.
ร้อง ‘บล.หยวนต้า’ ตุ๋นซื้อกองทุน 300ล.

ลูกค้าบล.หยวนต้าฯร้องเรียนกอง บ.ก.“ฐานเศรษฐกิจ” ถูกหลอกให้ซื้อกองทุนเกือบ 5 ปีเรื่องแดง บริษัทไม่รับผิดชอบอ้างพนักงานออกไปแล้ว เผยโอนเงินเข้าบริษัทหลายครั้งรวมกันกว่า 300 ล้าน บ่ายเบี่ยงจนต้องตัดสินใจฟ้องฉ้อโกงต่อกองบังคับการ ปอศ.

560000007851501

– 26 ก.ค.60- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีมาตรฐานทั้งด้านการดำเนินงาน ความโปร่งใสหรือ ธรรมาภิบาล สูงกว่าบริษัททั่วไป ทว่าพฤติกรรมความฉ้อฉลของผู้บริหาร บจ.กลับโผล่ออกมาเป็นระยะ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  (ก.ล.ต.) ที่ค่อนข้างหย่อนยาน ไม่เท่าทันปัญหา จนมักถูกเปรียบเทียบการทำงานเสมือนวัวหายล้อมคอก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ค. นายกฤติเดช นิติชาตวิทย์ พร้อมด้วยลูกความทั้ง 5 ราย คือนางวาสนา ศรีวิตานนท์ นางสาวพูนศรี เอื้อเจริญศรี นางสาวประไพศรี เกริกไกรเลิศ นายอำนาจ วิริยะกุล และนางเบญจลักษณ์ พินธุโสภณ เข้าร้องเรียนกอง บ.ก.หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ อาคารเล้าเป้งง้วนถนนวิภาวดีฯเนื่องจากเป็นผู้ได้รับความเสียหาย จากการที่นางสาวจัสมิน ดินแดง ผู้แนะนำการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคเคเทรด จำกัด ปัจจุบันคือ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)ฯ ชักชวนให้เข้าไปลงทุนในกองทุนที่อ้างว่าบริษัทเป็นผู้ดูแลและบริหารกองทุนระยะยาวหรือตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา สร้างความเสียหายเบื้องต้น 300 ล้านบาท

logo-yuanta

เป็นคดีอยู่ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เป็นการโอนคดี หลังจากลูกค้าแจ้งความดำเนินคดีกับนางสาวจัสมินและบล.หยวนต้าฯ ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจ นครบาล (สน.) ลุมพินี ทนายความระบุว่า หลังจากผู้เสียหายทั้ง 5 ราย ได้รับหนังสือจาก บล.หยวนต้าฯเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ระบุว่านางสาวจัสมินได้พ้นจากหน้าที่แล้ว จึงติดต่อสอบถามการลงทุนในกองทุนนี้ เจ้าหน้าที่บริษัทแจ้งว่าไม่ทราบเรื่อง ขณะที่ไม่สามารถติดต่อกับนางสาวจัสมินได้ จึงรู้ว่าถูกหลอกให้ลงทุนในกองทุนที่ไม่ได้มีการดำเนินการจริง

“ผู้เสียหายได้ลงทุนโดยการโอนเงินเข้าบริษัทหลายครั้ง บางครั้งเข้าบัญชีบุคคล บางครั้งเข้าบัญชีนางสาวจัสมิน  เมื่อได้รับหนังสือจาก บล.หยวนต้าฯ ผู้เสียหายพยายามติดต่อบริษัทหลายครั้งหลายครา เพื่อให้ชดใช้ความเสียหาย แต่ถูกบ่ายเบี่ยง ไม่มีข้อสรุป จึงต้องตัดสินใจฟ้องร้องในคดีฉ้อโกง”

ที่ผ่านมา นางสาวจัสมินนำใบรายงานการซื้อหุ้นในกองทุนมาให้ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นใบรายงานที่เข้าใจได้ว่าออกโดย บล.เคเคเทรดฯ (ในขณะนั้น) เพื่อให้ผู้เสียหายเข้าใจว่าเป็นเอกสารจริง  โดยอ้างอิงราคาหลักทรัพย์ในกองทุนกับราคาตลาด ณ ขณะนั้น และได้แนะนำให้ลงทุนต่อในกองทุนฯ นี้เรื่อยมา โดยนางสาวจัสมินบอกเพียงว่าเป็นการลงทุนในกองทุนฟิกซ์อินคัม โดยลงทุนมาตั้งแต่ปี 2555 ในลักษณะต่ออายุไปเรื่อยๆ

นายกฤติเดช มองว่า บล. หยวนต้าฯ ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นนายจ้างของนางสาวจัสมิน บริษัทปล่อยให้บุคลากรใช้ทรัพยากรของบริษัทไปก่อให้เกิดความเสียหาย ขาดการกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ที่ติดต่อกับลูกค้า ส่วน ก.ล.ต.ก็ไม่สามารถปกป้องนักลงทุนหรือมีการตรวจสอบที่รัดกุมพอเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

ผู้สื่อข่าว“ฐานเศรษฐกิจ”พยายามติดต่อผู้บริหาร บล.หยวนต้าฯเพื่อขอคำชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ผู้บริหารที่มีหน้าที่ไม่สะดวกในการให้ข้อมูล กระทั่งในช่วงเย็นวันเดียวกันมีเจ้าหน้าที่บริษัทที่ปรึกษากฎหมายโทรศัพท์เข้ามาสอบถามกอง บ.ก.“ฐานเศรษฐกิจ” อ้างว่าได้มอบหมายให้ติดต่อเข้ามา แต่ไม่สามารถให้รายละเอียดได้

สำหรับนางสาวจัสมิน เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2557 ได้ถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ลงโทษฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 20 (2) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทลธ. 3/2555 เรื่องการให้ความเห็นชอบบุคลากรของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อปฏิบัติหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนและแนะนำการลงทุนโดยก.ล.ต.ได้สั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุนนางสาวจัสมินเป็นเวลา 1 เดือน