เศรษฐกิจอินเดียได้อะไรจากภาษีระบบ GST ?

26 ก.ค. 2560 | 03:36 น.
ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา อินเดียได้เริ่มใช้ภาษีระบบใหม่ที่เรียกว่า Goods and Services Tax หรือ GST ทั่วทั้งประเทศ ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ราบรื่นนักสำหรับบริษัทหรือห้างร้านต่างๆ ในอินเดีย โดยความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่ปัญหาของร้านค้ารายเล็กที่บางรายยังไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำ แต่ก็จำเป็นต้องมาเริ่มต้นเรียนรู้ระบบเพื่อยื่นภาษีออนไลน์ จนไปถึงปัญหาของบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งเรื่องจุกจิกอย่างการแก้ไขป้ายราคาของสินค้าจำนวนมหาศาล หรือ เรื่องยุ่งยากอย่างการจัดการกับ supplier รายย่อยของตนให้เข้าสู่ระบบภาษี เพื่อให้บริษัทสามารถขอเครดิตภาษีจากการซื้อวัตถุดิบได้ บางบริษัทถึงกับต้องยกเลิกสัญญากับ supplier ที่ยังไม่พร้อมเข้าสู่ระบบภาษี เพราะไม่อยากจ่ายภาษีซ้ำซ้อนอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนปัญหาที่เกิดขึ้นจะสะท้อนถึงความไม่พร้อมของภาคส่วนต่างๆ ในอินเดีย มากกว่าที่จะเป็นปัญหาของระบบภาษีเอง ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาปรับตัวกันสักพักหนึ่งกว่าทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทาง และอินเดียจะได้เห็นผลดีของภาษีระบบใหม่อย่างแท้จริง

ในระยะต่อไป แต่ละฝ่ายในเศรษฐกิจจะได้อะไรจาก GST?

ภาครัฐ: ฝากความหวังไว้ที่ฐานภาษีที่เพิ่มขึ้น ช่วยลดการขาดดุลงบประมาณ

การปรับเปลี่ยนให้รัฐบาลท้องถิ่นที่เคยมีอำนาจกำหนดภาษีได้เอง มาอยู่ภายใต้ระบบ GST ทั้งหมดอาจทำให้รัฐบาลท้องถิ่นบางส่วนสูญเสียรายได้ไป อย่างไรก็ตาม ระบบ GST จะทำให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพและมีฐานภาษีกว้างขึ้นจากการที่มีผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้นเพราะประโยชน์ด้านเครดิตภาษีและการตรวจสอบที่รัดกุมจากทั้งรัฐบาลกลางและท้องถิ่นไปพร้อมกัน ประกอบกับรัฐบาลกลางจะชดเชยรายได้ให้รัฐบาลท้องถิ่นที่สูญเสียรายได้เป็นระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้ ยังมีสินค้าฟุ่มเฟือยและบริการบางประเภทที่เสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าอดีตก็จะมาชดเชยรายได้บางส่วนที่ลดลงไปได้เช่นกัน ทั้งนี้ รายงานของธนาคารกลางอินเดีย ระบุว่า GST จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นและปรับการขาดดุลงบประมาณลงได้ คิดเป็นมูลค่าราว 0.7-1.2% ของ GDP ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการจัดทำงบประมาณ หรือ Fiscal Responsibility and Budget Management Report ที่ได้วางแผนจัดทำงบประมาณขาดดุลน้อยลงจากปัจจุบันที่ 3.4% ของ GDP ลดลงไปที่ 2.6% ในปี 2023 โดยจะส่งผลให้ระดับหนี้ของรัฐบาลกลางลดลงไปด้วยเช่นกันอยู่ที่ 38.7% ของ GDP ในปี 2023 จาก 49.4% ในปัจจุบัน และแผนดังกล่าวจะช่วยให้รัฐบาลมีเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นในอนาคต

eic07261 ภาคเอกชน: ธุรกิจและประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากต้นทุนสินค้าที่ถูกลง

สินค้าหลายชนิดจะมีต้นทุนต่ำลง ส่งผลไปยังราคาขายปลีก ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือน และเป็นผลดีต่อเนื่องไปสู่ยอดขายของธุรกิจที่เพิ่มขึ้น โดยราคาสินค้าที่ลดลงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่

1.ราคาลดลงโดยตรงเพราะเสียภาษีต่ำกว่าระบบเก่า โดยสินค้าราว 80% ของสินค้าที่อยู่ภายใต้ระบบ GST ทั้งหมดจะถูกเก็บภาษีในอัตราไม่เกิน 18% ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกเก็บภาษีในอัตราต่ำกว่าหรือพอๆ กับในระบบเก่า อย่างไรก็ตาม มีสินค้าบางประเภทที่จะต้องถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าเดิม โดยส่วนใหญ่จะเป็นบริการและสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น บริการด้านโทรคมนาคม หรือบริการด้านการเงิน ที่ในอดีตเสียภาษี 15% แต่ภายใต้ระบบ GST ต้องเสียภาษี 18% เป็นต้น ทั้งนี้ เหตุผลที่รัฐบาลอินเดียแบ่งอัตราภาษีออกเป็น 4 อัตราสำหรับสินค้าประเภทต่างๆ แทนที่จะกำหนดเพียงอัตราเดียวเหมือนในประเทศอื่นๆ เพราะยังเล็งเห็นถึงความแตกต่างของประชากรในอินเดีย จึงยกเว้นภาษีหรือกำหนดอัตราภาษีต่ำลงสำหรับสินค้าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้มีรายได้น้อยมากเกินไป และกำหนดอัตราภาษีสูงขึ้นสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย

eic07262 2.ต้นทุนที่ลดลงทางอ้อมจากความยุ่งยากที่หายไป ทั้งต้นทุนด้านการขนส่งที่เป็นตัวเงินจะลดลงจากการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพขึ้น ต้นทุนด้านเวลาที่ประหยัดขึ้นเมื่อไม่ต้องเสียเวลากับการรอคิวในจุดผ่านแดนแต่ละรัฐฯ อีกต่อไป โดย World Bank ประเมินว่าต้นทุนด้านการขนส่งอาจลดลงถึง 30-40% หากลดเวลาขนส่งได้ครึ่งหนึ่ง (อ่านเพิ่มเติมที่: EP1 - อินเดียลุย GST ยกเครื่องภาษี ... โอกาสดีที่ไทยต้องเหลียวมอง) รวมถึงการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐอาจลดลงเพราะการกำหนดให้ยื่นภาษีผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมดโดยไม่ต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่เป็นตัวเงินที่ลดลงอาจไม่สามารถแปลงเป็นกำไรของธุรกิจที่สูงขึ้นได้มากนัก แต่จะออกมาในรูปแบบของราคาสินค้าที่ลดลงและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดว่าภาระภาษีที่ลดลงจะต้องแปลงไปเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค กล่าวคือ ต้องทำให้ราคาสินค้าถูกลง ไม่ใช่ตั้งราคาเท่าเดิมแต่ทำให้บริษัทมีกำไรขึ้น หากบริษัทฝ่าฝืนอาจต้องถูกปรับหรืออาจรุนแรงถึงสั่งให้หยุดกิจการได้

อัตราเงินเฟ้อ : มีแนวโน้มต่ำลง แต่ผันผวนในระยะสั้น

หากดูส่วนประกอบของตะกร้าดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ที่เป็นตัวบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อ พบว่า มีสินค้ากว่า 68% ของดัชนีราคาสินค้าทั้งหมดที่จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก เนื่องจากเป็นอาหารสด สินค้าโภคภัณฑ์ บริการด้านการศึกษา และบริการด้านสุขภาพที่ส่วนใหญ่ได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว  รวมถึงเชื้อเพลิงที่ไม่ได้อยู่ใต้ภายระบบ GST ขณะที่ส่วนที่เหลืออีก 32% ของดัชนีราคาสินค้าทั้งหมด แบ่งออกเป็น 1. สินค้าจำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวันมีสัดส่วนราว 25% เช่น อาหารสำเร็จรูป ของใช้ส่วนตัว ซึ่งมีอัตราภาษีต่ำลงหรือพอๆ กับระบบเก่า และ 2. ยาสูบและบริการอื่นๆ เช่น ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ที่จะถูกเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้นซึ่งมีสัดส่วนเพียง 7% ของดัชนีราคาสินค้าทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้น โดยรวมแล้วอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำลง ซึ่งไม่ได้เป็นผลจากภาษีที่ลดลงเท่านั้นแต่ยังเป็นผลจากต้นทุนค่าขนส่งที่ลดลงอาจทำให้ราคาสินค้าบางชนิดปรับลงด้วย หมายความว่า สินค้าที่จะปรับราคาลงไม่ได้มีแค่ 25% ที่เสียภาษีน้อยลงเท่านั้น แต่สินค้าอื่นที่ไม่เสียภาษีก็มีต้นทุนขนส่งหรือต้นทุนการจัดการถูกลงทำให้ราคาอาจปรับลดลงด้วย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคต่อไป

eic07263 อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้ออาจมีความผันผวนในระยะสั้นราว 1 ปีในช่วงที่ร้านค้าต่างๆ เพิ่งเริ่มปรับราคาสินค้า นอกจากนี้ ยังมีร้านค้ารายเล็กหลายรายที่เพิ่งเข้าสู่ระบบภาษี จึงต้องมีการปรับตัวสักระยะหนึ่ง ซึ่งหากดูสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ก็มีความผันผวนเช่นกัน อย่างเช่น ออสเตรเลีย เมื่อประกาศอัตรา GST ของสินค้าที่ 10% ในไตรมาส 3 ปี 2000 ส่งผลให้ราคาสินค้าผันผวนและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 6%YOY จาก 3%YOY โดยอยู่ในระดับสูงเพียงชั่วคราวก่อนลดกลับลงมาที่ระดับ 3% ในปีถัดไป

หลังประกาศ GST เงินเฟ้อออสเตรเลียสูงขึ้นอยู่ราว 1 ปีก่อนกลับมาสู่ระดับเดิม

อัตราเงินเฟ้อของออสเตรเลีย

หน่วย: %YOY eic07264

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ CEIC

เศรษฐกิจโดยรวม : อินเดียจะเป็นที่ตัวเลือกสำหรับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น

ที่ผ่านมาอินเดียอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนักที่นักลงทุนจะเลือกเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก เพราะหนึ่งในอุปสรรคสำคัญก็คือเรื่องภาษีระบบเก่าที่ซับซ้อน ซึ่งทำให้การส่งออกจากอินเดียมีต้นทุนสูงกว่าการส่งออกจากประเทศอื่น เช่น บริษัทในเมือง Nagur ซึ่งอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของอินเดียระบุว่าการส่งสินค้าจากโรงงานนี้ไปที่ท่าเรือ อาจมีต้นทุนแพงกว่าการส่งของจากท่าเรืออินเดียไปยังประเทศจีนด้วยซ้ำไป และยังรวมไปถึงการซื้อวัตถุดิบจากรัฐต่างๆ ในประเทศอินเดียเองที่อาจมีต้นทุนแพงกว่าการนำเข้าจากประเทศอื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนกดดันการผลิตและการส่งออกของอินเดีย เห็นได้จากตัวเลขภาคการผลิตมีสัดส่วนเพียง 30% ของ GDP ขณะที่ภาคบริการมีสัดส่วนถึง 52% รวมถึงการส่งออกของอินเดียปี 2016 มีมูลค่าราว 2.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเพียง 13% ของมูลค่าการส่งออกของจีน (หรือมีมูลค่าพอๆ กับการส่งออกของไทยที่ 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

ทั้งนี้ ระบบ GST จะช่วยปลดล็อคภาคอุตสาหกรรมของอินเดีย ทำให้การดำเนินธุรกิจ การขนส่ง และการซื้อขายวัตถุดิบภายในประเทศดำเนินการได้ง่ายขึ้น ช่วยให้อันดับความง่ายในการธุรกิจของอินเดียก้าวเข้ามาอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น พร้อมกับดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เลือกอินเดียเป็นฐานการผลิตมากกว่าในอดีต กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าของอินเดียให้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญต่อไป

โดย  :  ยุวาณี อุ้ยนอง ([email protected])

           Economic Intelligence Center (EIC)

           ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)