บีทีเอสมองข้ามช็อต กางแผนรุกกทม.โซนตะวันออก-ตะวันตก

29 ก.ค. 2560 | 08:31 น.
ปี 2560 นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการรุกธุรกิจบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส โดยล่าสุดได้รับการเซ็นสัญญาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)งานการประมูลก่อสร้าง เดินรถและบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)ซึ่งการเดินรถทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการเปิดพื้นที่รุกทางธุรกิจให้กับกลุ่มบีทีเอสในโซนกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกควบคู่กันไปด้วย

++รุกกทม.โซนตะวันออกอย่างไร
ทั้งนี้นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการรุกในโซนตะวันออกนั้นบีทีเอสได้ติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการรถไฟฟ้ารางเบาเส้นบางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ ที่กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากเล็งเห็นว่าถนนบางนา-ตราดนั้นมีศักยภาพในการเติบโตทางธุรกิจและยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าให้บริการซึ่งหากสามารถเชื่อมเข้าถึงสนามบินสุวรรณภูมิได้อย่างสะดวกก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการเดินทาง อีกทั้งยังเชื่อมกับถนนกิ่งแก้ว ถนนศรีนครินทร์ที่มีประชากรหนาแน่น นอกจากนั้นยังจะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่จุดตัดถนนศรีนครินทร์ได้อีกด้วย

[caption id="attachment_174355" align="aligncenter" width="335"] สุรพงษ์ เลาหะอัญญา สุรพงษ์ เลาหะอัญญา[/caption]

“เมื่อเปิดให้บริการสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 พร้อมกับเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองพื้นที่กทม.โซนตะวันออกตั้งแต่รามอินทรากวาดพื้นที่มาถึงถนนบางนา-ตราดจะคึกคักมากขึ้นแน่ๆ ยิ่งหากรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการจะดึงพื้นที่ถนนรามคำแหงให้คึกคักตามมาได้อีก ซึ่งล้วนมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกด้วย”

นอกจากนั้นสายสีเหลืองช่วงรัชโยธิน บีทีเอสยังมองโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับประชาชนที่จะมาใช้บริการสถานีกลางบางซื่อวันละประมาณ 11-12ล้านคน จึงเป็นโอกาสให้บริการที่บีทีเอสจะได้รับอานิสงส์ในครั้งนี้ซึ่งตามแผนนั้นคาดว่าจะมีระบบรถไฟฟ้ารางเบาเข้าไปให้บริการเสริมในพื้นที่ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงกับสายสีเหลืองได้อีกด้วยเช่นกัน
“บีทีเอสมองการพัฒนาศูนย์พหลโยธินรูปแบบสถานีรถไฟฟ้าชินจูกุของญี่ปุ่น ซึ่งพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อไม่ว่าจะเป็นปตท. ตึกแดง กม.11 จึงต้องมีระบบเสริมเข้าไปให้บริการส่วนพื้นที่รัชโยธิน บีทีเอสมองว่าจะเป็นพื้นที่การพัฒนาเมืองที่อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้า อีกทั้งปัจจุบันบีทีเอสมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โซนตรงข้ามสวนจตุจักรรองรับไว้แล้ว จึงสามารถต่อยอดไปสู่พื้นที่อื่นๆได้ทันที”

++กทม.โซนตะวันตกอีก3-5ปี
ล่าสุด กทม.อยู่ระหว่างการเร่งหารือกับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อแก้ไขปัญหาการเดินรถที่เป็นคอขวดช่วงสะพานตากสิน ที่กทม.จะมีการออกแบบรายละเอียดแล้วจึงจะนำเสนอให้ทช.พิจารณาหลังจากนั้นจะเร่งก่อสร้างให้สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่จะต้องมีเส้นทางเดินรถ 2 เส้นทางไม่เป็นคอขวดให้เกิดการรอหลีกดังเช่นปัจจุบันนี้ โดยคาดว่าในเร็วๆ นี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือในประเด็นดังกล่าวต่อไป

“พื้นที่บีทีเอสให้บริการปัจจุบันสิ้นสุดเพียงแค่สถานีบางหว้า หากกทม.เร่งก่อสร้างช่วงบางหว้า-ตลิ่งชันได้สำเร็จก็จะเป็นการเปิดพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครสู่โซนตะวันตกให้กลับมาคึกคักมากขึ้น หลังจากช่วงก่อนนี้มีทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกและรถไฟสายสีแดงเปิดให้บริการแล้วเนื่องจากแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสยังสามารถขยายแนวไปถึงพื้นที่นนทบุรีที่จะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงได้อีกด้วย ปัจจุบันได้มีการขยายถนน 4 เลนในบางช่วงแล้ว”

[caption id="attachment_184919" align="aligncenter" width="503"] บีทีเอสมองข้ามช็อต กางแผนรุกกทม.โซนตะวันออก-ตะวันตก บีทีเอสมองข้ามช็อต กางแผนรุกกทม.โซนตะวันออก-ตะวันตก[/caption]

ประการสำคัญการทำธุรกิจคอมเมอร์เชียลภายในสถานีหากออกไปไกลจากศูนย์กลางใจเมืองมากยังเห็นว่าทำได้ยากมากขึ้น ไม่มีผู้สนใจซื้อโฆษณา แต่ในอนาคตไม่แน่เพราะไลฟ์สไตล์คนจะเปลี่ยนไปหากรถไฟฟ้าเปิดบริการได้หลายเส้นทาง อาจจะดึงคนให้เปลี่ยนจากการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นประกอบกับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้ารูปแบบ TOD นั้นประเทศไทยกฎหมายยังไม่เปิดกว้างจึงทำได้ยากเช่นเดียวกัน

ปัจจุบันถนนราชพฤกษ์เติบโตทั้งร้านค้าและที่อยู่อาศัยทั้งบ้านเดี่ยว และคอมมิวนิตีมอลล์ หากมีรถไฟฟ้าเข้าไปให้บริการอาจเปลี่ยนจากคอมมิวนิตีมอลล์เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่เบื้องต้นนั้นทราบว่ามีโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่เข้าไปจัดหาที่ดินไว้แล้ว

“อยู่ระหว่างการรออนุมัติให้ใช้พื้นที่ของกรมทางหลวงชนบทบนถนนราชพฤกษ์ อีกทั้งหากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบโครงการกทม.คงจะเร่งผลักดันต่อไปปัจจุบันเส้นทางนี้บีทีเอสเพียงรับจ้างกทม.เดินรถเท่านั้น เชื่อว่ากทม.ยังรอการอนุมัติเรื่องขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลให้สามารถพัฒนาเส้นทางต่อไปได้”

ทั้งนี้ปัจจุบันรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยาย ผู้โดยสารยังเป็นกลุ่มเดิมยังมีปริมาณการเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ต้องใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์มาสู่รถไฟฟ้า ปัจจุบันในวันทำการปกติวันจันทร์-วันศุกร์ พบว่ามีผู้ใช้บริการราว 8 แสนคนต่อวัน แนวโน้มเติบโตทุกปี ยกเว้นบางปีที่เหตุการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ รายได้เติบโตตามปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยเกือบ10% ต่อปี ส่วนรายได้เชิงพาณิชย์ยังตอบยากเพราะพื้นที่จำกัดไม่เติบโตตามระยะทางที่เพิ่มขึ้น

“การร่วมทุนยังมีผู้สนใจมาทาบทามตลอดทั้งในและต่างประเทศ ส่วนไหนที่บีทีเอสมองเป็นโอกาสจะร่วมลงทุนด้วยทันทีแต่ยังคงจะเน้นด้านการเดินรถเป็นลำดับแรกก่อน ส่วนการพัฒนาคอมเมอร์เชียล ที่อยู่อาศัย หรือโฆษณาก็มีความพร้อมร่วมลงทุนได้ทั้งสิ้น และในอนาคตอันใกล้คงจะได้เห็นบีทีเอสร่วมลงทุนพัฒนาคอมเมอร์เชียลตามแนวรถไฟฟ้าเกิดขึ้น ปัจจุบันมีการร่วมลงทุนโรงแรมยูซิตี้ใกล้สถานีพญาไทและโรงแรมอีสตินแกรนด์สาทร ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์นำร่องไปแล้ว จึงสามารถจะลงทุนในโครงการอื่นๆ ได้เลยทันที”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,282 วันที่ 27 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560