ยกเลิกแน่กฎหมายขายฝาก ก.ยุติธรรมล้างระบบกลโกง-กรมที่ดินสั่งตรวจเข้มสัญญา

28 ก.ค. 2560 | 09:30 น.
กรมที่ดินกำชับสนง.ทั่วไทยตรวจสอบสัญญาขายฝาก เร่งทำความเข้าใจชาวบ้าน ด้านยุติธรรม แฉกลโกงนายทุนจ้องฮุบที่เกษตรกร ทำสัญญาโหดให้เวลาไถ่ถอน 3-6 เดือน ลั่นเลิกแน่ กฎหมายขายฝากมาตรา 490-500

จากคดีสะเทือนขวัญฆ่ายกครัว 8 ศพที่ตำบลบ้านกลางอำเภออ่าวลึกจังหวัดกระบี่ ที่มีสาเหตุมาจากการขายฝากที่ดินขณะเดียวกัน “ศูนย์ลูกหนี้” กระทรวงยุติธรรมได้รับร้องเรียนจำนวนมากว่าถูกโกงจากการขายฝากกับนายทุน ส่งผลให้กระทรวงยุติธรรมเตรียมเสนอยกเลิกกฎหมายขายฝาก

นายประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ระหว่างที่รอยกเลิกกฎหมายขายฝาก กรมได้กำชับสำนักงานที่ดินจังหวัด/สาขาทั่วประเทศ ตรวจสอบเอกสารหลักฐานก่อนจดทะเบียนพร้อมทั้งทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับเงื่อนเวลาขายฝาก หากผิดนัดไถ่ถอนเพียง 1 วัน จะถือว่าทรัพย์ สินตกเป็นของผู้รับฝากทันที เพราะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นชื่อของผู้รับฝากทันทีตั้งแต่วันแรกที่จดทะเบียนเหมือนกับการจำนองซื้อขายที่ดินกับแบงก์ทั่วไป อีกทั้งยังต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอน 2% ตามราคาประเมินที่ดิน และหากที่ดินครอบครองไม่เกิน 5 ปี หากต้องการขายฝาก ก็ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% เช่นเดียวกัน เพียงแต่กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังไม่ตกเป็นของผู้รับขายฝากเท่านั้น

[caption id="attachment_184900" align="aligncenter" width="336"] ประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน ประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน[/caption]

อีกเงื่อนไขคือ ผู้รับขายฝาก ไม่สามารถนำที่ดินของชาวบ้านไปขาย หรือจำนองต่อกับแบงก์ จนกว่าเจ้าของที่ดินจะไถ่ถอนตามสัญญา เช่น 3 ปี 5 ปี แต่ระยะเวลาต้องไม่เกิน 10 ?ปี ส่วนสังหาริมทรัพย์ ประเภทรถยนต์, เรือ ฯลฯ ไถ่ถอนไม่เกิน 3 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายรวมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงยุติธรรม
อย่างไรก็ดีเหตุผลที่ประชาชนมักนำที่ดินไปจำนองกับบุคคลหรือนิติบุคคล เนื่องจากได้เงินเร็ว สะดวกไม่ต้องเดินทางติดต่อกับแบงก์ ที่สำคัญไม่ยุ่งยากเกี่ยวกับการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน แม้กระทั่ง การตรวจสอบเครดิตบูโร ขณะที่ แบงก์ แม้จะเข้มงวด ปล่อยสินเชื่อ แต่ข้อดีของแบงก์คือ หากเกิดปัญหาลูกหนี้ผ่อนชำระไม่ไหว หรือ ขาดส่งเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยตามเงื่อนไข ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนของการฟ้องร้อง และประนอมหนี้ได้ โดยกรรมสิทธิ์จะไม่ตกเป็นของแบงก์ในทันที

“กรมได้กำชับให้สำนักงานที่ดินทั่วประเทศ ต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เพราะการจำนองขายฝาก เป็นดาบสองคม แม้สะดวก เชื่อใจกัน แต่อีกมุมเจ้าของที่ดินอาจตกเป็นเหยื่อกลโกงที่ดินแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือ ถูกหลอก เพื่อให้สมยอมเพื่อการได้มาซึ่งที่ดินที่นายทุนต้องการ” นายประทีปกล่าว

แหล่งข่าวจากกรมที่ดินเสริมว่า จากการตรวจสอบพบว่าภาคกลางประชาชนนิยมการขายฝากค่อนข้างมาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม

ด้านพ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เร็วๆนี้เตรียมเสนอยกเลิกกฎหมายขายฝาก มาตรา 490-500 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อปลัดกระ ทรวงยุติธรรม อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา พบว่า ชาวบ้านโดยเฉพาะ เกษตรกรมักถูกหลอกถูกโกงที่ดินจากการนำที่ดินไปขายฝาก ให้กับนายทุน แต่จะกำหนดระยะเวลาโหด ต้องนำเงินมาไถ่ถอนที่ดินคืนพร้อมดอกเบี้ยภายใน 3 เดือน 6 เดือน แต่เกษตรกรไม่สามารถหาเงินจากผลผลิตมาคืนได้ทัน เพราะปัญหาภัยธรรมชาติ ฝนตกนํ้าท่วม แล้ง ฯลฯ ส่งผลให้ถูกยึดที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่ามีการร้องเรียนจำนวนมาก ขณะที่ การจำนองกับสถาบันการเงินหากมีปัญหายังฟ้องบังคับคดีได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,282 วันที่ 27 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560